ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ของจีนลดลง 0% จาก 0.2% ในเดือน พ.ค. ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเมื่อวันจันทร์ (10 มิ.ย.)
นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมากสุดในรอบกว่า 2 ปี เหนือการคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ โดยหากดูเฉพาะแค่ราคาเนื้อหมูในจีนก็ร่วงลงถึง 7.2% จาก 3% ในเดือน พ.ค.
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) ตัวชี้วัดราคาสินค้าหน้าโรงงานลดลง 5.4% จาก 5% ในเดือน พ.ค. ต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี โดยลดลงต่อเนื่องมา 9 เดือนแล้ว
ค่าดัชนีทั้งสองสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจแดนมังกรที่ยังคงซบเซา แม้จีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์และเปิดประเทศมาตั้งแต่สิ้นปี 2565
นักวิเคราะห์ของโกลด์แมนแซคส์ระบุว่า จีนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในเดือนนี้ (ก.ค.)
อย่างไรก็ตาม นายหวัง ชิง หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของ “โกลเดนเครดิตเรตติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล” บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจมองว่า ความเสี่ยงที่จีนจะอยู่ในภาวะเงินฝืดตลอดทั้งปีไม่น่าจะเกิดขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลปักกิ่งเตรียมเข็นออกมาเพิ่มเติมจะหนุนให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวช่วงไตรมาสที่ 3 ผลักดันให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับขึ้น โดยซีพีไอรายปีของจีนอาจปรับขึ้นสู่ระดับปกติที่ราว 2% ภายในสิ้นปีนี้
กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนไม่คึกคักเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะงักงัน ภาคครัวเรือนจีนหันมาออมเงินแทนการใช้จ่าย และความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งทำให้บริษัทชาติตะวันตกเริ่มย้ายการลงทุนจากจีน
เงินฝืดเป็นภาวะที่ราคาของสินค้าแทนที่จะแพงขึ้นกลับถูกลง หากเกิดขึ้นชั่วคราวจะทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อมากขึ้น และช่วยให้อัตราดอกเบี้ยลดลง แต่ถ้าภาวะเงินฝืดลากยาวจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก บริษัทจะถูกกดดันให้ลดจำนวนพนักงานเพื่อรับมือกับความต้องการบริโภค ที่ชะงักงัน โดยชาติขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 อย่างญี่ปุ่นกำลังต่อสู้กับภาวะเงินฝืด ซึ่งเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษ
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นลูกผีลูกคนของจีน เสี่ยงทำให้ตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยและฮ่องกง ซึ่งพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน ฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้ตามเป้าหมาย
ที่มา : โกลบอลไทมส์ / เดอะเทเลกราฟ