xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดินหน้าวิจัยโครงสร้างส่วนลึกของ ‘ทะเลจีนใต้’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนานฟาง ในนครเซินเจิ้น สร้างความคืบหน้าครั้งใหม่ในการศึกษาโครงสร้างส่วนลึกของทะเลจีนใต้

ตลอดเวลา 100 ล้านปีที่ผ่านมา แผ่นเปลือกโลกจำนวนมากได้มุดตัวลงสู่ส่วนลึกของทะเลจีนใต้ ทว่าข้อจำกัดในการลงไปสังเกตการณ์บริเวณก้นทะเล ทำให้การทำความเข้าใจโครงสร้างส่วนลึกของทะเลแห่งนี้เป็นเรื่องยาก

ทีมวิจัยใช้ข้อมูลจากการทดลองแผ่นดินไหวแบบพาสซีฟ หรือการสำรวจที่มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องวัดแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร ร่วมกับสถานีภาคพื้นดิน เพื่อหาโครงสร้างแผ่นดินไหวสามมิติที่มีความละเอียดสูงของแอ่งย่อยทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลจีนใต้

บทความวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) ระบุว่า นักวิจัยค้นพบพื้นที่ผิดปกติที่ความลึก 40-80 กิโลเมตรทางตอนใต้ของแอ่งดังกล่าว ซึ่งมีความเร็วแรงเฉือนของแผ่นดินไหวต่ำอย่างเห็นได้ชัด และความผิดปกตินี้ชัดเจนที่สุดที่ความลึกราว 50 กิโลเมตร

หลังจากการวิเคราะห์เชิงอุณหพลศาสตร์ (thermodynamic) และธรณีเคมีของหิน ทีมวิจัยได้รับหลักฐานทางธรณีวิทยาฟิสิกส์ว่าชั้นเนื้อโลกตอนบนในทะเลจีนใต้ทางตอนใต้มีน้ำค่อนข้างมาก โดยแสดงให้เห็นความไม่สมดุลของโครงสร้างความเร็วคลื่นไหวสะเทือนในแนวเหนือ-ใต้ บริเวณส่วนลึกของทะเลดังกล่าว

อนึ่ง การศึกษานี้มีนัยสำคัญต่อการเปิดเผยโครงสร้างส่วนลึกของแผ่นเปลือกโลกที่มุดตัว การกำเนิดของภูเขาไฟและแนวปะการังหลายแห่งในทะเลจีนใต้ รวมถึงวัฏจักรน้ำในเขตมุดตัวของโลก

ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว




กำลังโหลดความคิดเห็น