พญามังกรยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีขยับใกล้พี่กัน วิดีโอและภาพถ่ายว่อนเน็ต ยืนยัน ดับเบิ้ลยูเอส-15 (WS-15 engines) เครื่องยนต์ทรงพลังมากที่สุดและใช้เวลาพัฒนามานาน 2 ทศวรรษของจีน ทดสอบสมรรถนะสำหรับการบินเป็นเที่ยวแรกแล้ว
ความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นนี้จะเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องบินขับไล่ล่องหนจีนในการต่อกรกับเครื่องบินขับไล่ล่องหนระดับพระกาฬในโลก ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเครื่องบินขับไล่เอฟ-22 และเอฟ-35 รุ่นที่ 5 ของสหรัฐฯ กำลังยกโขยงมาประจำการ
วิดีโอเครื่องบินเจ-20 ทะยานขึ้นจากลานบินทดสอบในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. เครื่องบินต้นแบบลำนี้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดับเบิ้ลยูเอส-15 ซึ่งติดตั้ง 2 ตัว โดยเมืองเฉิงตูเป็นที่ตั้งของบริษัทอวกาศและการบินเฉิงตู (Chengdu Aerospace Corporation) ผู้สร้างเจ-20 เครื่องบินขับไล่ล่องหนล้ำสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งของแดนมังกร
แม้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนไม่ออกมาแถลงเกี่ยวกับวันเวลาในการทดสอบ แต่การปล่อยให้วิดีโอและภาพถ่ายแพร่สะพัดในสื่อโซเชียลทั้งในและนอกประเทศโดยไม่ถูกเซ็นเซอร์ก็เท่ากับเป็นการยืนยันกลายๆ ของกองทัพจีนถึงความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนดับเบิ้ลยูเอส-15 จากมุมมองของนายโจว เฉินหมิง นักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการทหารหยวนหวัง ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงปักกิ่ง
ก่อนหน้านี้ คอข่าวการทหารเคยเผยแพร่คลิปเครื่องบินเจ-20 ขึ้นบินทดสอบด้วยเครื่องยนต์ เอแอล-31 (AL-31) ของรัสเซียเที่ยวแรกเมื่อปี 2554 และด้วยเครื่องยนต์ดับเบิ้ลยูเอส-10 ซี (WS-10C) ของจีนเที่ยวแรกเมื่อปี 2564 มาแล้ว
นายโจว ระบุว่า เครื่องยนต์ดับเบิ้ลยูเอส-15 ตอบโจทย์ปัญหา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเจ-20 ทำให้มันไต่ระดับเพดานบินได้คล่องแคล่วว่องไวขึ้นมากโข เกือบเท่าเครื่องยนต์เอฟ119 ของพี่กัน ที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องบินขับไล่ล่องหนเอฟ-22 และเอฟ-35 กันเลยทีเดียว
“หลังจากเจ-20 ขึ้นบินทดสอบเครื่องยนต์ของรัสเซียเที่ยวแรกเมื่อปี 2554 ผ่านมา 12 ปี ในที่สุดกองทัพอากาศจีนก็ได้เครื่องยนต์ ที่เฝ้ารอมานานเสียที” นายโจว กล่าว
แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เครื่องยนต์ดับเบิ้ลยูเอส-15 ยังทาบรัศมีเครื่องยนต์เอฟ 119 ไม่ติดด้วยข้อด้อยเรื่องความอึด เครื่องยนต์ของพี่กันนั้นพาเครื่องบินเหินเวหาได้เกิน 500,000 ชั่วโมงบิน จากข้อมูลของนายซ่ง จงผิง อดีตครูฝึกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
“เครื่องยนต์ดับเบิ้ลยูเอส-15 ทดสอบสำเร็จ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะเข้าสู่การผลิตเครื่องยนต์รุ่นนี้ออกมาจำนวนมาก การทดสอบและการปรับปรุงยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ” เขาระบุ
ทั้งนี้ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีการผลิตเครื่องบินขับไล่เจ-20 อย่างน้อย 200 ลำ ส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์เอแอล-31 ของรัสเซีย ขณะที่เครื่องยนต์ของจีนคือดับเบิ้ลยูเอส-10 ซี ซึ่งมีระบบแรงขับกำหนดทิศทาง (thrust-vectoring) จะคอยสำรองไว้ใช้ยามจำเป็นชั่วคราว
ด้านสหรัฐฯ นั้น ตามรายงานของสื่อระบุว่า มีแผนส่งเครื่องบินขับไล่ล่องหนมาประจำการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากถึง 300 ลำ ภายในปี 2568
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์