xs
xsm
sm
md
lg

เหอหนานพบ ‘หลุมศพโบราณ’ พร้อมราวแขวนเสื้อ เตารีด สารพัดของใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อไม่นานนี้ กลุ่มหลุมศพโบราณ 22 หลุม ที่มีอายุลากยาวกินเวลาเกือบ 1,600 ปี ถูกค้นพบที่เนินเขาในหมู่บ้านเหล่าจวงซือ อำเภอเว่ยซื่อ เมืองไคเฟิง ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ (ปี 960-1127) ในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน

(สถานที่ขุดค้นทางโบราณคดีในหมู่บ้านเหล่าจวงซือ อำเภอเว่ยซื่อ มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน) จิตรกรรมฝาผนังบางส่วนในหลุมศพสมัยราชวงศ์ชิง)
หลุมศพ 2 หลุมมีอายุย้อนกลับไปสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) อีก 12 หลุมสร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) ส่วนอีก 8 หลุมสร้างในสมัย ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) และ ราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)

(จิตรกรรมฝาผนังบางส่วนในหลุมศพสมัยราชวงศ์ชิง)
มีการคาดการณ์ว่าหลุมศพยุค ราชวงศ์ซ่ง ซึ่งสร้างด้วยโครงสร้างห้องอิฐเป็นหลัก และประกอบด้วยทางเดินแบบขั้นบันไดเป็นของหนึ่งในตระกูลโบราณ โดยนักโบราณคดียังพบการตกแต่งละเอียดอ่อนด้านใน เช่น ผนังห้องที่ประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังหลากสีสันลวดลายดอกไม้ นก สัตว์ในตำนาน เฟอร์นิเจอร์ และอาวุธ อีกทั้งพบประตูและหน้าต่างที่สร้างขึ้นโดยมีโครงสร้างที่เลียนแบบไม้ด้วย

(พื้นที่ด้านในห้องหลุมศพยุคราชวงศ์ซ่ง ประกอบด้วยโต๊ะก่อด้วยอิฐ เก้าอี้สองตัว และของใช้ในชีวิตประจำวัน)
ฉางหงเจี๋ย เจ้าหน้าที่ประจำสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีเหอหนาน กล่าวว่า วัตถุที่ค้นพบมีทั้งเก้าอี้ โต๊ะพร้อมเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ขวดเหล้าหรือกาน้ำชาที่วางอยู่ด้านบน รวมถึงสิ่งของอื่นๆ เช่น กรรไกร เตารีดแบน ราวแขวนเสื้อผ้า และตู้เสื้อผ้า

(หลุมศพทำด้วยอิฐซึ่งประกอบด้วยทางเดินแบบขั้นบันได)
ฉางเสริมว่าพื้นที่ภายในหลุมศพดังกล่าวสะท้อนภาพชีวิตประจำวันของเจ้าของหลุมศพอย่างชัดเจน ซึ่งนับเป็นข้อมูลเชิงลึกอันล้ำค่าที่เปิดเผยชีวิตทางสังคมและประเพณีการฝังศพในสมัยราชวงศ์ซ่ง

คณะนักวิจัยกล่าวว่า การตกแต่งด้านในและการออกแบบด้านนอกของห้องหลุมศพ จำลองมาจากบ้านเรือนและลานบ้านของจริง ซึ่งช่วยทำความเข้าใจภาพการใช้ชีวิตในเมืองไคเฟิงเมื่อครั้งสมัยราชวงศ์ซ่ง

ที่มาข่าว สำนักข่าวซินหัว, 2 ก.ค.2023


กำลังโหลดความคิดเห็น