xs
xsm
sm
md
lg

เล่าประสบการณ์บนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ตอนที่ 1 : ด่านบ่อหาน พลิกโฉมสปีดการส่งออกสินค้าสู่ตลาดจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขบวนรถไฟ CR200J Fuxing  สีเขียวสำหรับวิ่งในเส้นทางจีน-ลาว ในฝั่งจีน (จาสถานีคุนหมิงถึงด่านรถไฟบ่อหาน) (ภาพ MGR CHINA)
ในฤกษ์งามยามดีของช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนเพลาฤทธิ์เดชลงมาก และจีนได้เปิดประเทศมาราวครึ่งปีแล้ว สำนักกิจการต่างประเทศประจำ #มณฑลยูนนาน ได้จัดโครงการ “Experiencing China-Laos Railway in Yunnan” เชิญชวนคณะผู้สื่อข่าวจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปเยี่ยมชมเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ในมณฑลยูนนาน และผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์นั่งรถไฟจีน-ลาวช่วงเส้นทางในจีน ซึ่งเริ่มจากสถานีนครคุนหมิง ไปสิ้นสุดที่ สถานีบ่อหาน (Mohan/磨憨) ในเขตปกครองตัวเองของชนชนติไตแห่งสิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน


เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเริ่มก่อสร้างในเดือน ธ.ค.2016 สายนี้ เปิดใช้เส้นทางในเดือน ธ.ค.2021 และเพิ่งเปิดเที่ยวเดินรถของขบวนรถไฟผู้โดยสารระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา เส้นทางรถไฟจีน-ลาวซึ่งเป็นโครงการสัญลักษณ์ของ ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ของจีน ไม่เพียงเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่าง 2 ประเทศ หากยังได้เชื่อมเข้ากับโครงข่ายทางรถไฟภายในประเทศจีน อีกทั้งเป็นโครงข่ายทางรถไฟระหว่างประเทศสายแรกของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจทำให้จีนบรรลุการสร้าง โครงข่ายทางรถไฟแพนเอเชีย (Pan-Asian Railway Network)

ขบวนรถไฟ CR200J Fuxing  สีเขียวสำหรับวิ่งในเส้นทางจีน-ลาว ในฝั่งจีน (จาสถานีคุนหมิงถึงด่านรถไฟบ่อหาน) (ภาพ MGR CHINA)
เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เชื่อมนครคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ถึงนครเวียงจันทน์ในสปป.ลาว มีความยาวทั้งสิ้น 1,035 กิโลเมตร ในบทความนี้จะกล่าวถึงเส้นทางรถไฟจีน-ลาวในฝั่งจีน ซึ่งมีความยาว 600 กว่ากิโลเมตร การเดินทางจากสถานีแรกในนครคุนหมิงไปถึงสถานีบ่อหาน ซึ่งเป็นด่านรถไฟในฝั่งจีน ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง 45 นาที

ภายในอาคารตรวจผู้โดยสารของด่านรถไฟบ่อหาน ก่อนที่จะข้ามพรมแดนไปยังด่านบ่อเต็นในฝั่งลาว (ภาพ MGR CHINA)
ก่อนจะเล่าประสบการณ์นั่งรถไฟจีน-ลาว ในฝั่งจีน ขอแนะนำมณฑลยูนนานอย่างย่อ “ยูนนาน” หรือในสำเนียงจีนกลางคือ อวิ๋นหนัน (云南) หมายถึง แดนแห่งเมฆ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีพรมแดนติดกับลาว พม่า เวียดนาม เป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกแห่งของจีน มณฑลเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับยูนนานคือ กุ้ยโจว เสฉวน กว่างซี และทิเบต ผู้โดยสารและสินค้าที่ขนส่งเส้นทางรถไฟจีน-ลาวสามารถเดินทางต่อไปยังมณฑลเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว และกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจีน

คณะผู้สื่อข่าวเอเชียนั่งรถไฟออกจากสถานีรถไฟนครคุนหมิงในตอนเช้าไปยังเมืองผู่เอ่อร์ ซึ่งใช้เวลาเดิน 2 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อทัศนศึกษาการพัฒนาเมืองรอรับโอกาสที่จะมาพร้อมขบวนรถไฟ ตรงนี้ผู้เขียนขอเล่าในตอนแวะชมเมืองชาดังผู่เอ่อร์ในตอนต่อไป

บริเวณตรวจตั๋วโดยสารภายในประเทศของด่านรถไฟบ่อหาน (ภาพ MGR CHINA)
เสร็จจากเยี่ยมชมเมืองผู่เอ่อร์ ก็โดยสารรถไฟไปยังสิบสองปันนาซึ่งใช้เวลาแค่ 40 นาที คณะผู้สื่อข่าวพักค้างคืนในใจกลางเมืองสิบสองปันนา รุ่งเช้ายกขบวนไปยังสถานีรถไฟสิบสองปันนา นั่งรถไฟต่อไปยัง #ด่านรถไฟบ่อหาน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ทั้งนี้บ่อหานเป็นเมืองชายแดนในเขตปกครองตนเองของชนชนติไตแห่งสิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน อยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาของ สปป.ลาว

เจ้าหน้าที่กำลังตรวจผู้โดยสารที่มาถึงด่านบ่อหาน (ภาพ MGR CHINA)
เจ้าหน้าที่ประจำด่านรถไฟบ่อหานได้พาคณะสื่อชมด่านที่ติดตั้งเครื่องมือไฮเทคอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ที่จีนระดมมาใช้ในการตรวจคนเข้าเมืองและเดินพิธีการศุลกากร ทำให้ขั้นตอนการผ่านด่านเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ตู้อัจฉริยะชี้แจงสุขภาพด้วยตัวเองต่อด่านศุลกากร เครื่องตรวจสุขภาพและโรคต่างๆ เพียงผู้โดยสารเดินผ่านประตูเครื่องสแกนนี้ ระบบจะแจงสุขภาพผู้โดยสารว่ามีโรคติดต่อและโรคร้ายแรง อย่างเช่น โรคเอชไอวี (เอดส์) และโรคมะเร็ง....หรือไม่


เครื่องสแกนตรวจผู้โดยสาร ที่สามารถตรวจโรคติดต่ออย่างเช่น เอชไอวี และโรคร้ายร้ายแรงอย่าง โรคมะเร็ง ได้ (ภาพ MGR CHINA)
สำหรับภาคการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่งเริ่มในวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดในเดือนมิ.ย. เผยว่า ทางรถไฟจีน-ลาว ได้ขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนทั้งสิ้น 25,000 เที่ยว/ผู้โดยสาร

สำหรับค่าโดยสารรถไฟจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ หรือจากเวียงจันทน์ถึงคุนหมิงนั้น ตั๋วโดยสารชั้นประหยัด ราคา 542 หยวน หรือราว 2,663 บาท ตั๋วโดยสารชั้นหนึ่ง 864 หยวน หรือราว 4,246 บาท


ตู้อัจฉริยะสำหรับให้ผู้โดยสารกรอกข้อมูลชี้แจงสุขภาพด้วยตัวเองต่อด่านศุลกากรคุนหมิง มีภาษาจีน อังกฤษ พม่า เวียดนาม ลาว และไทย หรือสามารถทำการชี้แจงผ่านแอปในโทรศัพท์มือถือ (ภาพ MGR CHINA)
ด่านบ่อหาน ยกเครื่องประสิทธิภาพ เพิ่มสปีดการขนส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน

และแล้วคณะสื่อก็มาถึงจุดที่น่าสนใจที่สุด นั่นก็คือ ด่านตรวจขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ได้ชี้สถิติด้านต่างๆของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวจากช่วงแรกๆ ที่เปิดเส้นทาง ถึงขณะนี้ส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้นมากแสดงถึงสัญญาณที่ดีเยี่ยมของการค้าระหว่างประเทศ และมีเพียงสถิติชุดเดียวที่ลดลงคือ ระยะเวลาในการเดินพิธีศุลกากรของขบวนรถไฟสินค้าที่เข้ามายังด่านบ่อหาน

ป้ายของศุลกากรจีน แสดงภาพสิ่งที่ห้ามผู้โดยสารถือหรือส่งเข้าไปในจีน (ภาพ MGR CHINA)
สำหรับสถิติด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงแรกที่เปิดเส้นทางถึงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่

- ขบวนรถไฟ เพิ่มจาก 6 ขบวนต่อวัน เป็น 16 ขบวนต่อวัน

- ประเภทหรือชนิดของสินค้าที่ขนส่งมีความหลากหลายมากขึ้นจากจำนวน 10 กว่าชนิด เป็น 2,000 กว่าชนิด ยิ่งนับวันยิ่งหลากหลาย สินค้าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

- ปริมาณการขนส่งสินค้าต่อวัน จาก 1,000 ตัน เพิ่มเป็น 16,000 ตัน ยอดสะสมของปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั้งสิ้นเท่ากับ 3,553,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 20,000 ล้านหยวน (เจ้าหน้าที่ด่านเผยสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งสิ้น นับถึง 18 มิ.ย.นี้ เท่ากับ 4.47 ล้านตัน)

- บริการเดินรถของขบวนรถไฟขนส่งสินค้าสายด่วนระหว่างนครคุนหมิงถึงนครเวียงจันทน์ ที่มีชื่อว่า ล้านช้าง-แม่โขง เอ็กซ์เพรส (Lancang-Mekong Express ชื่อย่อ Lanmei Express) เพิ่มจากสัปดาห์ละ 1 เที่ยวเป็นสัปดาห์ละ 14 เที่ยว ขบวนรถด่วนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ ใช้เวลาเดินทางเพียง 26 ชั่วโมง หรือแค่หนึ่งวันเศษๆ ยอดรวมการส่งมอบสินค้า 186 ขบวน ขนส่งสินค้า 189,000 ตัน

- สถิติที่น่าสนใจมาก คือ ‘สถิติที่ลดลง’ นั่นก็คือ ระยะเวลาเดินพิธีการศุลกากร ลดลงจาก 40 กว่าชั่วโมง เหลือเพียง 4-5 ชั่วโมง และทำสถิติเร็วที่สุดแค่ 30 นาที!

ป้ายข้อมูลจำเพาะเส้นทางรถไฟจีน ลาว แสดงภูมิประเทศ สถานี สะพาน อุโมงค์ (ภาพ MGR CHINA)
“ขณะนี้สินค้าที่เข้ามาในแต่ละวันมีปริมาณมากถึง 13,000 ตัน ปีนี้หรือช่วงไม่ถึง 6 เดือนมานี้ขบวนรถไฟขนส่งสินค้ามากถึง 2 ล้านตันแล้ว ทางรถไฟจีน-ลาวส่งผลในเชิงบวก เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพในการเดินพิธีศุลกากรของขบวนสินค้าระหว่างประเทศจากช่วงแรกๆ ที่ใช้เวลา 2 วันก็ลดลงเหลือแค่ 5 ชั่วโมงในการตรวจขบวนรถขนส่งสินค้าแต่ละคัน สินค้าที่ขนส่งมีผลไม้ อาหารทะเล และธัญพืช นับจากเปิดใช้เส้นทางรถไฟนี้มีการขนส่งผลไม้ 110 ขบวนรถไฟ คิดเป็นปริมาณกว่า 30,000 ตัน และผมเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นปีต่อปี” เจ้าหน้าที่ประจำด่านกล่าวเสริม

ตึกอาคารในเมืองสิบสองปันนา ซึ่งเป็นเขตปกครองตัวเองชนชาติไตของมณฑลยูนนาน (ภาพ MGR CHINA)
"อุโมงค์มิตรภาพ" ขั้นแรกของการพลิกโฉมประสิทธิภาพการตรวจสอบสินค้า

เจ้าหน้าที่ด่านอีกท่านได้พามาดูภาพกราฟิกอีกชุดที่แสดงจุดที่ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแล่นผ่านเส้นแบ่งแยกพรมแดนลาว-จีนเข้ามายังด่านบ่อหาน โดยขบวนรถไฟจะแล่นผ่าน อุโมงค์มิตรภาพ” อุโมงค์มิตรภาพนี้มีความยาวราว 9.3 กิโลเมตร ส่วนของอุโมงค์อีกด้านอยู่ในบ่อเต็น ของลาว (ยาว 2.42 กิโลเมตร) เส้นแบ่งเขตแดนจีนและลาวอยู่ในอุโมงค์มิตรภาพนี้ ช่วงของอุโมงค์ที่อยู่ในเขตแดนจีนยาว 7.17 กิโลเมตร ภายในอุโมงค์นี้มีการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ 3 ชุดเพื่อตรวจขบวนรถขนส่งสินค้าที่เคลื่อนขบวนผ่านพรมแดนเข้ามา ได้แก่ เครื่องพ่นละอองสารฆ่าเชื้อโรค เครื่องสแกนตรวจสินค้า และเครื่องเอกซเรย์ โดยอุปกรณ์ทั้งหมดนี้ทำการตรวจสอบด้วยระบบอัตโนมัติ หากขบวนรถขนส่งสินค้าใดมีสิ่งผิดปกติเครื่องจะส่งเสียงสัญญาณเตือนและจะต้องมาจอดที่โซนจอดรถ... สำหรับขบวนรถขนส่งสินค้าที่ต้องผ่านพิธีศุลกากร (custom clearance) อย่างเช่น อาหาร อาหารทะเล ผลไม้ จะมาที่โซนที่กำหนดและเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะทำการสุ่มตัวอย่างตรวจเพื่อกักกันสินค้าและตรวจสอบอื่นๆ ส่วนสินค้าที่ไม่ต้องผ่านพิธีศุลกากรเมื่อมาถึงด่านก็สามารถเดินหน้าเดินทางต่อไป หลังจากที่การตรวจสอบแล้วเสร็จ สินค้าจะถูกขนส่งต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ของจีนโดยสินค้าบางกลุ่มถูกขนส่งต่อโดยทางรถไฟ บางกลุ่มจะถูกขนขึ้นรถบรรทุก

ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากเมืองอื่นๆในจีน ที่ใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว (แฟ้มภาพ ซินหัว)
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขบวนรถไฟแล่นจากอุโมงค์มิตรภาพมาถึงโซนจอดรถใช้เวลานานเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า “ราว 5 นาทีเท่านั้น” เมื่อมาถึงลานจอดรถขั้นต่อไปคือพิธีศุลกากร ซึ่งต้องขนถ่ายสินค้าขึ้นรถอีกคันโดยใช้เวลาราว 30 นาที จากนั้นแล่นมายังจุดตรวจสอบแบบสุ่มตัวอย่าง ตัวอย่างเช่น การตรวจรถบรรทุกผลไม้ใช้เวลา 10-15 นาทีในการตรวจต่อคัน

สิ่งที่นักข่าวชาวไทยสนใจคือการขนส่งทุเรียนผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวไปยังตลาดจีน เจ้าหน้าที่ด่านรถไฟบ่อหานเผยว่า ปัจจุบันมีคอนเทนเนอร์บรรจุทุเรียนไทย ผ่านเข้ามายังด่าน 35-40 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน ใช้เวลาตรวจรวดเร็วกว่าเมื่อก่อนถึง 3-4 เท่า การย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าเกษตรนั้นทุกนาทีมีค่ามากเพราะหมายถึงคุณภาพความสดใหม่รสชาติของสินค้า

“เส้นทางรถไฟอุโมงค์!”

สุดท้าย ขอเล่าประสบการณ์เดินทางไปบน “เส้นทางรถไฟอุโมงค์” ที่น่าทึ่ง... เมื่อรถไฟแล่นออกจากสถานีคุนหมิงในตอนเช้า เบิ่งตาออกไปนอกหน้าต่างรถไฟ ชมขุนเขาใหญ่เขียวขจี ไม่ทันไรจอก็จอดำ เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างไปตลอดทาง เพราะขบวนรถไฟต้องลอดอุโมงค์หลายแห่งไปตลอดเส้นทาง ทำให้ผู้เขียนรู้ซึ้งถึงความภาคภูมิใจในนวัตกรรมเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ของจีน

ขบวนรถไฟจีนลาวนี้แล่นทะลุทะลวงภูมิประเทศที่ซับซ้อน ที่มีฉายาว่า “พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาที่มีชีวิต” การก่อสร้างทางรถไฟตัดผ่านภูเขา 3 ลูก แม่น้ำ 4 สาย โดยสร้างสะพานรถไฟ 316 แห่ง อุโมงค์ 176 แห่ง ส่วนทางรถไฟที่เป็นสะพานกับอุโมงค์เหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 71 เปอร์เซ็นต์ของเส้นทางรถไฟทั้งหมด การก่อสร้างนี้ได้พิชิตอุปสรรคเทคโนโลยีสุดหินแบบทำลายสถิติโลกหลายรายการเลยทีเดียว

แม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน) ในเมืองเชียงรุ่ง (จีนเรียก จิ่งหง) เมืองเอกของสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน (ภาพ MGR CHINA)
เสร็จจากดูงานที่ด่านรถไฟบ่อหานและแวะชมหมู่บ้านชนชาติไตซึ่งพูดภาษตะกูลไท และมีวัฒนธรรมประเพณีสถาปัตยกรรมบ้านเรือนวัดคล้ายกับลาว และไทย พวกเรามากินมื้อเย็นที่ภัตตตาคารอาหารไทลื้อ ที่ตั้งอยู่ริมแม้น้ำล้านช้าง (ซึ่งก็คือแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน) รับประทานอาหารกันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เดินทางไปยังสนามบินนานาชาติสิบสองปันนาเพื่อขึ้นเครื่องเดินทางกลับคุนหมิง

ตอนเครื่องบินกำลังลงจอดที่สนามบินคุนหมิงก็เกิดปัญหาลงจอดไม่ได้เพราะฝนตกหนักลมแรงจนต้องบินกลับไปสนามบินต้นทางสิบสองปันนา ผู้เขียนได้ลุกขึ้นมาคุยบ่นเรื่องเครื่องบินดีเลย์กับผู้สื่อข่าวจากกัมพูชาที่นั่งที่นั่งติดกันและหลุดปากพูดภาษาไทย ผู้โดยสารหญิงที่นั่งข้างๆ ก็ส่งยิ้มให้เพราะฟังออกรู้ความหมาย เธอเป็นชาวไตสิบสองปันนา ผู้เขียนจึงถือโอกาสถามคำพื้นฐานในชีวิตประจำของชนชาติไต คำว่า แม่ พ่อ กินอาหาร เป็นต้น ซึ่งพบว่าใช้คำเหมือนกันหรือเสียงคล้ายกัน

ประตูทางเข้าหมู่บ้านตัวอย่างของชนชาติไต ในเมืองจิ่งหง สิบสองปันนา ซึ่งมี นกยูง เป็นสัญลักษณ์ของชนชาติ (ภาพ MGR CHINA)
เรื่องวัฒนธรรมประเพณีของชนชาติไตที่คล้ายคลึงกับไทย ลาว พม่า เช่น ภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาตระกูลไทที่หลายๆ คำพูดสื่อสารกันรู้เรื่อง มีวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีคือวันสงกรานต์ อาหารการกินคล้ายกัน มีข้าวเหนียว น้ำพริก ผักลวก เป็นต้น จีนถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่มีส่วนช่วยสนับสนุนสร้างความเชื่อมโยงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างกลมกลืน


ข้อมูลเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

- เส้นทางรถไฟจากนครคุนหมิง-เวียงจันทน์ มีความยาว 1,035 กม.

- เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ประกอบด้วยส่วนของสะพาน 316 แห่ง ส่วนของอุโมงค์ 176 แห่ง ส่วนของสะพานกับอุโมงค์เหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 71 เปอร์เซ็นต์ของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

- ระยะเวลาเดินทางจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ถึงกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว 10.5 ชั่วโมง (รวมระยะเวลาเดินพิธีการทางศุลกากร)

- ช่วงเส้นทางในประเทศจีน จากสถานีคุนหมิงถึงสถานีด่านรถไฟบ่อหาน มีความยาว 613 กม.

- ขบวนรถไฟที่ใช้วิ่งช่วงเส้นทางในจีน CR200J Fuxing ขบวนรถสีเขียว ช่วงคุนหมิง-อี้ว์ซี ใช้อัตราเร็ว 200 กม./ชม. ช่วงอี้ว์ซี-บ่อหาน ใช้อัตราเร็ว 160 กม./ชม.

- ช่วงเส้นทางในลาว จากด่านรถไฟบ่อเต็นถึงสถานีเวียงจันทน์ มีความยาว 414 กม.

- ขบวนรถไฟที่ใช้วิ่งในเส้นทางในลาว CR200J Fuxing ชื่อขบวนรถ “ล้านช้าง” ขบวนรถไฟสีขาวแถบแดงน้ำเงิน ขบวนรถไฟขนส่งผู้โดยสารแล่นในอัตราเร็ว 160 กม./ชม. ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแล่นในอัตราเร็ว 120 กม./ชม.

- เปิดใช้เส้นทางเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2021

- เปิดบริการเที่ยวเดินรถของขบวนรถไฟผู้โดยสารระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2023

- ข้อมูลจากการรถไฟจีน สรุปเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ระบุปริมาณการขนส่งสินค้าบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 21 ล้านตัน

ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารบนเส้นทางรถไฟทั้งช่วงฝั่งจีน และฝั่งลาว รวมทั้งสิ้น 16.4 ล้านเที่ยว/ผู้โดยสาร
ปริมาณสินค้าข้ามพรมแดน (cross border cargo) ที่ใช้บริการเส้นทางรถไฟจีน-ลาว 4.012 ล้านตัน

นักธุรกิจในลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา และพม่า ได้ใช้บริการเส้นทางรถจีน-ลาว ขนส่งสินค้าไปยังตลาดจีน รวมทั้งขาออกจากจีน ตัวอย่างเช่น ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากไทยไปยังจีน ได้เพิ่มปริมาณขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร


กำลังโหลดความคิดเห็น