xs
xsm
sm
md
lg

นายกรัฐมนตรีจีนเยือนต่างประเทศครั้งแรกก็มีเรื่องให้ปวดหัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ต้อนรับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.2566) - ภาพ : เอพี
ทริปยุโรป 6 วันของนายกรัฐมนตรีจีนช่วยเปิดสวิตช์เดินเครื่องความสัมพันธ์การค้าระหว่างกันอีกครั้ง แต่ "กลยุทธ์การลดความเสี่ยง" ของอียูกำลังชักใบให้เรือเสีย

ก่อนหน้าการเยือนเยอรมนี และฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง เมื่อสัปดาห์ก่อนไม่นานนัก สหภาพยุโรป (อียู) เพิ่งประกาศแผนโรดแมปเพื่อความมั่นคงของอียู ซึ่งเน้นกลยุทธ์การลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาห่วงโซ่เศรษฐกิจของจีน (de-risking strategy) โดยมีการคัดกรองบริษัทที่จะไปลงทุนในแดนมังกร และการควบคุมการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี ซึ่งมีความอ่อนไหว


การเยือนต่างประเทศครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีจีน นายหลี่เลือกไปเฉพาะแค่ 2 ชาติเศรษฐกิจระดับท็อปในอียูเท่านั้น ซึ่งเป็นการส่งสารชัดเจนว่า จีนต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับยุโรปเพื่อลดกระแสต่อต้านจีน ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ แต่กลยุทธ์ใหม่ของอียูกลับสร้างอุปสรรคขวากหนาม และความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มขึ้นบนเส้นทางความสัมพันธ์
 
นายหลี่ ต้องยกเหตุผลมาชี้แจงระหว่างการพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและภาคธุรกิจในเยอรมนีและฝรั่งเศส เขาระบุว่า การไม่ร่วมมือกันนั่นแหละคือ “ความเสี่ยงใหญ่หลวงที่สุด” การกำหนดกันด้วยเหตุด้วยผลว่าอะไรคือความเสี่ยงและจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญซึ่งทุกฝ่ายควรพิจารณาร่วมกัน พร้อมกับยืนยันว่า โลกาภิวัตน์ทำให้ “การพึ่งพากัน” เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

 
ด้านนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ยืนยันกับนายหลี่ ว่า จะไม่มีการแยกขาดจากห่วงโซ่เศรษฐกิจของจีน (decoupling) อย่างแน่นอน


นักวิเคราะห์ของจีนมองท่าทีนายชอลซ์อย่างระมัดระวัง โดยเชื่อว่า เขาน่าจะยังคงปฏิบัติตามกลยุทธ์การลดความเสี่ยงของอียูต่อไป แต่มีวิธีการที่ชาญฉลาดของตนเอง เพื่อให้ภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการติดต่อกับจีน


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส พบกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน ที่พระราชวังเอลิเซ่เมื่อ วันพฤหัสฯ (22 มิ.ย.2566) - ภาพ : ซินหัว
นายติง อี้ฟาน ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรประบุว่า เยอรมนีลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับจีนไม่ได้ง่ายๆ หรอก ถึงแม้เยอรมนีไม่พูดคำว่า การแยกขาด แต่จริงๆ แล้วก็มีวิธีการที่เจ้าเล่ห์อย่างมากกับจีน 

นายติง มองความร่วมมือกับฝรั่งเศสในแง่บวกมากกว่า เมื่อดูจากการแสดงความคิดเห็นของประธานาธิบดีมาครง ระหว่างการเยือนจีนร่วมกับนางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมาครง ระบุว่า อียูไม่ควรหลับหูหลับตาเดินตามสหรัฐฯ ในเรื่องไต้หวัน นอกจากนั้น มาครงยังคัดค้านแผนการเปิดสำนักงานประสานงานของนาโตในญี่ปุ่น ซึ่งมองกันว่า เป็นความพยายามในการสกัดการเข้ามามีอิทธิพลทางทหารของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอีกด้วย

สำหรับประเด็นยูเครนและไต้หวัน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอียูตึงเครียดนั้น มีการนำมาหารือ แต่นายหลี่ ไม่ตอบรับคำขอของนายชอลซ์ ที่ให้จีนกดดันรัสเซีย นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ของจีนก็มิได้เอ่ยถึงไต้หวัน หรือประเด็นสิทธิมนุษยชน


นายฌอง-ปิแอร์ กาเบสต็อง นักวิจัยของเอเชียเซ็นเตอร์ สถาบันคลังสมองในกรุงปารีสคาดว่า นับจากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฝรั่งเศส และเยอรมนีจะซับซ้อนเต็มไปด้วยการโต้แย้งและการแข่งขันมากกว่าแต่ก่อน การผลักดันกลยุทธ์การลดความเสี่ยงมากกว่าการแยกขาดจากห่วงโซ่เศรษฐกิจจีนอาจไม่ทำให้จีนรู้สึกอุ่นใจขึ้นเลยก็ได้


ที่มา : "Chinese Premier Li Qiang's Europe trip good for trade, but EU de-risking push makes matters 'more complicated' " ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น