xs
xsm
sm
md
lg

จีนเปิดรถไฟใต้ดินระหว่างเมือง ‘ซูโจว-เซี่ยงไฮ้’ เชื่อมขุมพลังเศรษฐกิจตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันเสาร์ (24 มิ.ย.) รถไฟใต้ดินซูโจว สาย 11 เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างนครซูโจว เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของมณฑลเจียงซู และเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ขุมพลังทางเศรษฐกิจอีกแห่งของภูมิภาคจีนตะวันออก

รายงานระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มเมืองหลักของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีได้เชื่อมโยงระบบรถไฟใต้ดินในเขตเมืองเข้าถึงกัน ซึ่งถือเป็นการก้าวข้ามเขตแดนและอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคระดับมณฑลที่แตกต่างกัน

แผนการออกแบบกำหนดให้รถไฟใต้ดินซูโจว สาย 11 เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้ สาย 11 โดยทางรถไฟใต้ดินข้ามมณฑลสายนี้ถูกวางแผนตั้งแต่ทศวรรษก่อน และช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างซูโจวและเซี่ยงไฮ้เหลือราว 2 ชั่วโมง

ลู่เหวินเสวีย ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ซูโจว เรล ทรานสิต กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สาย 11 เป็นรถไฟใต้ดินเส้นทางที่ 6 ของซูโจว และถูกตั้งชื่อไว้ล่วงหน้า ซึ่งบ่งชี้ความมุ่งมั่นของซูโจวในการบูรณาการเข้ากับภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนสายรถไฟใต้ดินระหว่าง 2 เมืองที่สถานีคุนซาน-หัวเฉียว ในเมืองคุนซานของเจียงซู โดยคุนซานครองอันดับ 1 ในแง่ภาพรวมความสามารถทางการแข่งขันติดต่อกัน 18 ปี เมื่อเทียบกับหมู่เมืองระดับอำเภอ 100 อันดับแรกของจีน

การเปิดรถไฟใต้ดินสายระหว่างเมืองนี้ปูทางสู่การพัฒนาเชิงส่งเสริมกันระหว่างซูโจวและเซี่ยงไฮ้เพิ่มเติม โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากในการจัดอันดับฟอร์จูน 500 (Fortune 500) ได้ตั้งสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ และโรงงานในซูโจว

“การเดินทางสัญจรระหว่างเมืองที่สะดวกสบายมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น ขณะภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีกำลังอัดฉีดการพัฒนาสู่กลุ่มเมืองขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก” เหอเจี้ยนหัว นักวิจัยประจำสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้กล่าว

รายงานเสริมว่า อนาคตเจียงซูจะขยับขยายรถไฟใต้ดินซูโจว สาย 3 ไปยังเมืองอู๋ซี ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถนั่งรถไฟใต้ดินในเซี่ยงไฮ้ไปยังหลายเมืองทางตะวันตก

อนึ่ง ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีตั้งอยู่ตอนล่างของแม่น้ำแยงซี ครอบคลุมเซี่ยงไฮ้ รวมถึงมณฑลต่างๆ ได้แก่ เจียงซู เจ้อเจียง และอันฮุย โดยสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีนี้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีพลังทางเศรษฐกิจ เปิดกว้าง และสร้างสรรค์มากที่สุดของจีน

ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว




กำลังโหลดความคิดเห็น