xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : เจาะลึกเทสลา (Tesla) สำคัญกับจีนอย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โลโก TESLA (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล


ในช่วงนี้มีข่าวกลุ่มผู้นำประเทศคนสำคัญรวมถึงนักธุรกิจคนสำคัญของโลก เดินทางมาเยือนจีนเพื่อพบปะพูดคุยกับผู้นำจีนอย่างไม่ขาดสาย หนึ่งในนั้นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อจีนมากคือ อีลอน มัสก์ โดยในระหว่างวันที่ 30-31 มิ.ย.ที่ผ่านมา มัสก์ได้เดินทางไปที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ตามลำดับ และใช้เวลาในจีนทั้งหมดเพียง 40 กว่าชั่วโมงเท่านั้น ตารางงานของอีลอน มัสก์แน่นเอี๊ยดจนชาวเน็ตจีนซูฮกอีลอน มัสก์ ว่าไม่เพียงเป็นนักธุรกิจที่ชาญฉลาด แต่ยังเป็นผู้นำแห่งการบริหารเวลาชั้นยอด!

การเดินทางมาจีนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ อีลอน มัสก์ได้พบปะพูดคุยกับผู้นำจีน เช่น นายฉินกัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน นายจินจวงหลง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี นายหวังเหวินซั้ว รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ นายเหรินหงปิน ประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน

ในเซี่ยงไฮ้ มัสก์พบปะกับผู้บริหารและเจ้าหน้าของโรงงานฐานผลิตรถยนต์เทสลา ถ่ายรูปร่วมกันกับพนักงานในโรงงาน (คนจีนเรียกโรงงานผลิตรถยนต์เทสลาที่เซี่ยงไฮ้ว่า “超级工厂” อ่านว่า ชาวจี้กงฉ่าง แปลเป็นไทยได้ว่าซูเปอร์โรงงาน)

อาณาจักรของเทสลา” ในเซี่ยงไฮ้ กับสมญานาม ซูเปอร์โรงงาน (ภาพจากสื่อจีน 365che.net)
การเดินทางมาจีนของอีลอน มัสก์ในครั้งนี้ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากทางรัฐบาลจีน ในการพูดคุยระหว่างอีลอน มัสก์ และผู้นำ/ตัวแทนรัฐบาลจีน แสดงว่า จีนมีความพยายามอย่างสูงที่จะใช้ประโยชน์จากการลงทุนของอีลอน มัสก์ เป็นตัวผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาอัปเกรดเทคโนโลยีของจีน

เทคโนโลยีสมัยใหม่ของจีน ไม่เพียงแต่ด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบปฏิบัติการอัจฉริยะประเภทอื่นๆ ด้วย และจุดประสงค์การเดินทางมาจีนของอีลอน มัสก์ในครั้งนี้ มีการคาดเดากันว่าน่าจะเป็นเรื่องการเจรจาขอเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์เทสลา Model3 เพิ่มพื้นที่การสร้างโรงงานเพื่อรองรับกำลังการผลิตในอนาคต ปูทางสําหรับโรงงานเก็บพลังงานของเทสลาในเซี่ยงไฮ้ที่กําลังจะผุดขึ้น รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์จัดเก็บพลังงานในอนาคต และผลักดันการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี FSD (การขับขี่ด้วยตนเองเต็มรูปแบบที่เทสลากำลังทำ) เนื่องจากการลงทุนของเทสลามีมูลค่ามหาศาล การตัดสินใจมาลงทุนที่จีนของเทสลาได้รับการต้อนรับสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเป็นอย่างมากในช่วงต้น และเทสลาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ

มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจว่า ก่อนที่เทสลาจะมาสร้างโรงงานในเซี่ยงไฮ้ ได้เซ็นสัญญากับรัฐบาลเซี่ยงไฮ้แบบ VAM (Valuation Adjustment Mechanism) กล่าวคือ เซี่ยงไฮ้ได้ให้เงินกู้แก่เทสลาเพื่อสร้างโรงงาน โดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้ 3.9% และเทสลาได้ที่ดินบริเวณหลินก่างของเซี่ยงไฮ้ในราคา 1% ของมูลค่าที่ดิน แต่เมื่อถึงปี 2023 เป็นต้นไป เทสลาจะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ จำนวน 2,200 ล้านหยวนในทุกๆ ปี และในเวลา 5 ปีหลังจากสร้างโรงงานเทสลาต้องจ่ายเงินลงทุนในเซี่ยงไฮ้อย่างน้อย 1,400 ล้านหยวน และหากว่าเทสลาไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ข้อใดข้อหนึ่งได้ เทสลาต้องคืนที่ดินให้รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ เท่ากับว่ารัฐบาลจีนดึงเทสลามาลงทุนทั้งให้เงินกู้ ทั้งให้ที่ดิน วิธีการสนับสนุนแบบนี้เหมือนกับที่เคยทำกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทำให้ต่อมาภาคอสังหาริมทรัพย์จีนเจริญรุ่งเรืองขึ้น

ปี 2020 อีลอน มัสก์ เดินทางมาเซี่ยงไฮ้ สำรวจโรงงานและพบปะกับพนักงานเพื่อประกาศความเตรียมพร้อมการผลิตรุ่น ModelY (ภาพจากสื่อจีน qctt.cn)
การเข้ามาของเทสลานำความเปลี่ยนแปลงและการอัปเกรดอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีน! ผู้เขียนมองว่าที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้เทสลาเข้ามาตั้งโรงงานพร้อมเงื่อนไขพิเศษนานัปการ รัฐบาลมีการคำนวณและประเมินมาอย่างดีแล้วคือ “ได้คุ้มเสีย” เพราะจีนมีตัวอย่างมาก่อนแล้วคือ “บริษัทแอปเปิล” ที่เข้ามาเปิดโรงงาน สร้างฐานการผลิตขนาดใหญ่ในจีนช่วยกระตุ้นให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมจีนด้านสมาร์ทโฟนเติบโตได้จริง ในช่วงเริ่มต้นที่แอปเปิลตัดสินใจเข้ามาตั้งโรงงานการผลิตในจีนเพราะแรงงานทักษะระดับกลางของจีนมีคุณภาพ ทำให้โรงงานสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ง่าย อีกทั้งจีนมีบริษัทอุปกรณ์ซัปพลายเออร์ต้นน้ำและกลางน้ำมากมาย ซึ่งหลายประเทศไม่มี

ปัจจัยเอื้อแบบนี้ หลังจากการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตของแอปเปิลในจีน ทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนในจีนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตแผงวงจรแบบยืดหยุ่น หรือ Flexible Printed Circuit Board ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษและใช้ในมือถือแอปเปิล ต่อมา ถูกใช้มากขึ้นและแพร่หลายในมือถือแบรนด์จีน สุดท้ายทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้รับการพัฒนา อีกทั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีเฉพาะของแอปเปิลถูกถ่ายทอดและทำให้เกิด SMEs จีนที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนมากมายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้แอปเปิล จนมีบริษัทซัปพลายเออร์จีนสำคัญที่ป้อนชิ้นส่วนให้แอปเปิลกว่า 36 บริษัทประสบความสำเร็จจนนำบริษัทขึ้นตลาดหุ้นได้ จนถึงปี 2020 บริษัทซัปพลายเออร์ของแอปเปิล 200 แห่งทั่วโลก เป็นบริษัทจีน จำนวน 86 บริษัท หรือเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่ง

สายการผลิตรถเทสลา Model3 ที่โรงงานในเซี่ยงไฮ้ (ภาพจากสื่อจีน auto.ifeng)
แอปเปิลและจีนร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน แอปเปิลต้องใช้ศักยภาพและข้อได้เปรียบของจีนในการคงกำลังการผลิตมือถือที่ 200 ล้านเครื่องต่อปี ในขณะเดียวกันแอปเปิลยังช่วยให้จีนมีอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านอัตรางาน ช่วยพัฒนาแรงงานจีน ถ่ายทอดวิธีการบริหารและผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพ การเข้ามาลงทุนของแอปเปิลช่วยสร้างมาตรฐานสินค้าของจีนสู่สากล และยังเป็นตัวอย่างของแบรนด์มือถือจีนอื่นๆ ได้เรียนรู้ (ก๊อบปี้) และพัฒนาต่อ

มีผู้เชี่ยวชาญจีนรายหนึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทต่างชาติในจีนไว้ว่า “ให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีนได้กินเนื้อที่หอมหวนก่อน จีนดื่มน้ำซุปไปก่อน รอวันหนึ่งที่เราเข้มแข็ง ค่อยมาคุยกันเรื่องการแข่งขัน!”

ความเห็นนี้ทำให้ผู้เขียนเห็นในความแยบยลของจีน คือทุ่มทุนให้ก่อนแล้วอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ในมุมของเทสลาคงเป็นในลักษณะเดียวกัน จีนดึงเข้ามาก่อน ให้เทสลาลงทุนสร้างฐานไลน์การผลิตแบบจัดเต็ม เทสลามีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้ต้นทุนลดลง ราคาขายก็ลดลงตามเรื่อยๆ ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว การที่เทสลาในจีนลดราคาขายลงอย่างต่อเนื่องก็กระทบกับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนอย่างจัง การแข่งขันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนรุนแรงขึ้น แต่ขณะนี้รัฐบาลจีนดูเหมือนจะปล่อยไปก่อนให้เทสลาได้ทำเต็มที่ ในแง่หนึ่งเป็นการกระตุ้นให้บริษัทรถไฟฟ้าแบรนด์จีนลุกขึ้นมา เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนตัวเอง และแข่งขัน

เพราะอีกประเด็นที่น่าสังเกตคือ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 2009-2019 รัฐบาลจีนได้ให้เงินอุดหนุนกับกลุ่มบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีนไปมากกว่า 1 แสนล้านหยวน แต่ศักยภาพและระดับการแข่งขันยังไม่ค่อยไปไหน ดังนั้นการเข้ามาของเทสลากลายเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจีนแบบธรรมชาติ ถ้าแบรนด์จีนต่างๆ ไม่ปรับตัวก็ตกกระป๋องและการพัฒนาของห่วงโซ่ที่ครบครันมากขึ้นจะทำให้มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากในอนาคตการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น สุดท้ายตลาดจะคัดสรรและนำไปสู่ความเป็นผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีนในระดับโลก

ในปี 2022 กำไรสุทธิของรถยนต์เทสลาแต่ละคันอยู่ที่ 16% ในขณะที่เจ้าตลาดแบรนด์จีน BYD มีกำไรสุทธิจากการขายรถยนต์แต่ละคันเพียง 3.6% เท่านั้น
ในปี 2020 รถยนต์ไฟฟ้าจีนแบรนด์ NIO ได้ส่งมอบรถให้ผู้บริโภคไป 43,700 คัน รถยนต์ไฟฟ้าจีนแบรนด์ Xiaopeng ส่งมอบรถยนต์ไป 27,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้าจีนแบรนด์ Lixiang ส่งมอบรถยนต์ไป 32,600 คัน และเจ้าตลาดแบรนด์จีน BYD มีการส่งมอบรถยนต์ไป 179,000 คัน แต่แบรนด์เทสลาในปีเดียวกันนี้ได้ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคไปกว่า 500,000 คัน!

จากตรงนี้ทำให้เราเห็นศักยภาพการผลิตและการพัฒนาของรถยนต์เทสลายังนำแบรนด์จีนอยู่มาก ในด้านของเทคโนโลยีดีกว่า และต้นทุนก็ยังต่ำกว่า กำไรที่เทสลาได้รับก็สูงกว่ารถยนต์แบรนด์จีน

จากข้อมูลที่เปิดเผยในปี 2022 กำไรสุทธิของรถยนต์ เทสลา แต่ละคันอยู่ที่ 16% ในขณะที่เจ้าตลาดแบรนด์จีน BYD มีกำไรสุทธิจากการขายรถยนต์แต่ละคันเพียง 3.6% เท่านั้น ในปี 2022 ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจีนแบรนด์ดังรายเดียวที่กำไรสุทธิต่อคันเป็นบวก เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจีนแบรนด์อื่นๆ อย่าง Lixiang, NIO, Xiaopeng กำไรสุทธิติดลบ -4.5% -29% -34% ตามลำดับ

สุดท้ายแล้ว การเข้ามาลงทุนของเทสลาในจีนและตั้งจีนเป็นฐานการผลิตสำคัญในเอเชีย มีความสำคัญกับจีนอย่างยิ่ง และจีนจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านต่างๆ จากเทสลาอย่างเต็มที่ จีนมีแผนการพัฒนาระยะยาวที่ชัดเจนและแน่วแน่ในการพัฒนาไปสู่ผู้นำอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในแง่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนยังต้องมีการพัฒนาต่อไป และเทสลาจะเป็นตัวช่วยในการผลักดันศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีน โดยในอนาคตเทสลามีแผนที่จะเพิ่มการผลิตอีก 7.5 เท่า และลดต้นทุนการผลิตลงอีก 75% ขณะนี้จีนปล่อยให้เทสลาทำเต็มที่ไปก่อน และจีนจะ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”


กำลังโหลดความคิดเห็น