ในเดือน มี.ค.ปีนี้ ต้นทุเรียนในแปลงเพาะปลูกขนาด 1,400 หมู่* หรือ 583.3 ไร่ ในโซนเกษตรนิเวศอี้ว์ไฉ เมืองซันย่า ที่มณฑลไห่หนัน หรือไหหลำ ออกลูกอ่อน และกลายเป็นข่าวฮือฮาในโลกโซเชียลจีน เพราะผลอ่อนทุเรียนเหล่านี้จะถูกเก็บเกี่ยวในราว 2 เดือนข้างหน้าและส่งขาย โดยนับเป็นผลผลิตทุเรียน “เมด อิน ไชน่า” ปริมาณมากล็อตแรกที่จะวางขายในตลาดจีน
“ทุเรียน 1 กก. ไม่ถึง 50 บาท!” อีกนานไหมจะเป็นจริง?
ในการเปิดเผยครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า “ทุเรียนไห่หนัน จะวางตลาดในเดือน มิ.ย.นี้” โดยสถานีโทรทัศน์จีน หรือซีซีทีวี อ้างการคาดการณ์ของเฝิง เสวียเจี๋ย หัวหน้าศูนย์พัฒนาพืชผลเขตร้อนของสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรประจำมณฑลไห่หนัน ระบุว่า ปริมาณทุเรียนจีนที่จะวางตลาดเดือน มิ.ย.นี้มีประมาณ 2,450 ตัน และยังได้คาดการณ์ผลผลิตทุเรียนในปีหน้า (2024) จะเพิ่มเป็น 45,000 ถึง 75,000 ตัน
ชาวเน็ตแดนมังกรจำนวนมากต่างตื่นเต้นดีใจและลุ้นกันว่าเมื่อทุเรียนไห่หนันลงตลาดจำนวนมากขึ้นๆ ราคาทุเรียนจะลดลงมาก บางคนถึงกับคุยโวว่า “3 จิน** (หรือ 1.5 กิโลกรัม) 10 หยวน (หรือ 50 บาท) อยู่แค่เอื้อมแล้ว!”
ทว่า ข่าวล่าสุดเมื่อต้นเดือน มิ.ย.นี้ นายเฝิง เสวียเจี๋ย หัวหน้าศูนย์พัฒนาพืชผลเขตร้อน เผยว่า ทุเรียนไห่หนันจะเริ่มทยอยวางตลาดในปลายเดือน มิ.ย.ไปถึงเดือน ส.ค. และคาดว่าผลผลิตในปีนี้จะมีแค่ราว 50 ตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 0.005 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคทุเรียนในประเทศจีนซึ่งอยู่ที่ปีละราว 1 ล้านตัน
จีนจัดเป็นชาติที่กินทุเรียนมากสุดในโลก ที่ผ่านมาแหล่งป้อนทุเรียนให้ตลาดจีนทั้งหมดมาจากต่างประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ยอดนำเข้ารายปีมีแต่สูงขึ้นๆ จากข้อมูลสถิติปีที่แล้ว (2022) ระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียน 824,000 ตัน สูงขึ้นถึงกว่า 4 เท่าตัวจากปี 2017 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย
สำหรับทุเรียนไห่หนันที่จะวางตลาดในเดือน มิ.ย.นี้มาจากแปลงเพาะปลูกในโซนเกษตรนิเวศอี้ว์ไฉ ของบริษัทไห่หนัน โยวฉี อกริคัลเจอรัล ซึ่งเป็นผู้ปลูกทุเรียนรายใหญ่สุดของเมืองซานย่าในแง่ของขนาดการเพาะปลูก
ตู้ไป่จง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ไห่หนัน โยวฉี อกริคัลเจอรัล และนายกสมาคมทุเรียนไห่หนัน เผยในเดือน พ.ค.เกี่ยวกับแผนการนำทุเรียนออกวางตลาดว่า เนื่องจากอุณหภูมิในท้องถิ่นที่ต่ำกว่าปกติ ทำให้การคาดหมายดั้งเดิมถึงช่วงเวลาที่ทุเรียนจะสุกพอเก็บได้ในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.นั้น ต้องเลื่อนออกไปเป็นปลายเดือน มิ.ย.หรือต้นเดือน ก.ค.นี้
สำหรับแปลงเพาะปลูกทุเรียนอี้ว์ไฉ มีทุเรียน 4-5 สายพันธุ์ ในปีนี้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายส่งให้ตลาดได้แล้วอย่างมากสุด 25 ตันขึ้นไป ฐานเพาะปลูกทุเรียนในเมืองซันย่าทั้งหมดมีพื้นที่รวมกันกว่า 3,333 ไร่ ปลูกทุเรียนไว้ประมาณ 120,000 ต้น ซึ่งเริ่มบุกเบิกในปี 2020 สำหรับปีนี้ต้นทุเรียนในแปลงขนาดราว 583 ไร่ ได้ออกดอกออกผลที่จะเก็บเกี่ยวได้ปริมาณมากและส่งขายในตลาด ประกอบด้วย สายพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนมาเลย์ มูซังคิง (Musang King) และทุเรียนหนามดำ หรือแบล็กทอร์น (Black Thorn) และอื่นๆ
นายตู้ไป่จง คุยอีกว่า ตอนที่ต้นทุเรียนบางส่วนเริ่มออกดอกออกผลเมื่อปีที่แล้ว (2022) คนที่อยู่ไกลออกไป 6-7 เมตร ยังได้กลิ่นทุเรียน เขาเก็บผลทุเรียนน้ำหนักราว 5 กิโลกรัมมาชิม เนื้อทุเรียนนุ่มหวาน “เกินความคาดหมายของผม”
“คลำก้อนหินข้ามแม่น้ำ จนถึงฝั่งฝัน”
การบรรลุฝันทุเรียนของจีนนั้นนับเป็นความพยายามที่น่าทึ่งดั่งสำนวนจีนที่ว่า “คลำก้อนหินข้ามแม่น้ำ” (摸着石头过河) คือ การข้ามลำน้ำที่มิรู้ลึกตื้น หรือแฝงอุปสรรคใดโดยการสัมผัสก้อนหินในท้องน้ำไปทีละก้อนๆ จนข้ามลำน้ำถึงฝั่งตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับที่ผู้นำเติ้งเสี่ยวผิงยึดถือเป็นวิถีการปฏิรูปและเปิดประเทศจีน สำหรับไห่หนัน ซึ่งเป็นมณฑลเดียวของจีนที่มีสภาพภูมิอากาศกึ่งเขตร้อน ได้เริ่มทดลองเพาะปลูกทุเรียนตั้งแต่เมื่อ 70 ปีที่แล้ว แต่สมัยนั้นอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก
นายเฝิง เสวียเจี๋ย หัวหน้าศูนย์พัฒนาพืชผลเขตร้อน เล่าว่า ในปี 1958 ไห่หนันได้นำต้นกล้าทุเรียนจากมาเลเซียเข้ามาปลูก แต่แทบไม่ออกผลเลย ต่อมา ทศวรรษที่ 70-80 ของศตวรรษที่ 20 มณฑลกวางตุ้ง ไห่หนัน พยายามปลูกทุเรียนแต่ก็ออกดอกน้อยมาก จนในที่สุดหน่วยวิจัยทดลองปลูกทุเรียนถึงกับถอดใจบอกว่า “สภาพอากาศในไห่หนันไม่เหมาะสำหรับปลุกทุเรียน”
ด้านนายตู้ไป๋จง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ไห่หนัน โยวฉี อกริคัลเจอรัล กล่าว พร้อมกับเล่าประสบการณ์ในการปลุกทุเรียนในไห่หนัน 3 ช่วง ได้แก่
“ช่วงที่หนึ่ง ในศตวรรษที่แล้ว ช่วงทศวรรษที่ 50 ถึงทศวรรษที่ 80 มีการนำต้นกล้าทุเรียนจากไทย มาเลเซีย มาทดลองปลูกที่อำเภอเป่าถิง อำเภอหลิงสุ่ย และพื้นที่อื่นๆ ในไห่หนัน แต่แทบไม่มีข่าวต้นทุเรียนออกดอกเลย
“ช่วงที่สอง ในศตวรรษที่แล้วจากทศวรรษที่ 90 จนถึงต้นศตวรรษนี้ มีการนำต้นกล้าจากไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ มาทดลองปลูก จนกระทั่งบรรลุความคืบหน้าก้าวใหญ่โดยในปลายปี 2014 ‘ฐานเพาะปลูกทุเรียนหงเหมาตัน’ ของบริษัทการเกษตรไห่หนันหวาเซิ่งในอำเภอเป่าถิง ได้นำต้นกล้าจากเวียดนามมาปลูก 44 ต้น และออกดอกติดต่อกัน 3 ปี โดยอัตราการออกดอกกว่าร้อยละ 95 ต่อมาในปี 2019 เริ่มออกผล โดยต้นที่ให้ผลดก ออกลูกมากถึง 30 ลูก
“ช่วงที่สาม ปี 2018 เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนลงต้นกล้าจำนวนมาก ข่าวทุเรียนไห่หนันออกดอก ทำให้กลุ่มบริษัทและเกษตรกรจำนวนมากหันมาปลูกทุเรียน ปัจจุบัน เมืองซันย่า อำเภอเป่าถิง อำเภอเล่อตง และพื้นที่อื่นๆ มีการปลูกทุเรียน รวมพื้นที่ทั้งหมดทั้งสิ้นประมาณ 25,000 หมู่” (ราวกว่า 10,416 ไร่)
บริษัทไห่หนัน โยวฉี หันมาบุกเบิกฐานเพาะปลูกทุเรียนหลังจากที่เห็นความสำเร็จในช่วงที่สามนี้ โดยได้ส่งคนไปเรียนการปลูกทุเรียนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งจัดตั้งความร่วมมือกับหน่วยการวิจัยของสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อน จนกระทั่งในเดือน มี.ค.2020 ได้ลงมือบุกเบิกแปลงเพาะปลูกทุเรียนในโซนนิเวศการเกษตร พร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย
“บริษัทโยวฉี เลือกพื้นที่เพาะปลูกที่ดีที่สุด ได้แก่ เมืองซันย่า อำเภอเล่อตง อำเภอเป่าถิง และที่อื่นๆ การเพาะปลูกทุเรียนในไห่หนันต้องใช้การแทรกแซงและดูแลมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ” “พวกเรากำลังเตรียมขยายสวนทุเรียนเชิงพาณิชย์ 50,000 หมู่ (20,833.333 ไร่) มูลค่า 5,000 ล้านหยวน สำหรับโครงการนี้จะใช้เวลา 3-5 ปี” ตู้ไป๋จง กล่าว และเผยอีกว่า กลุ่มของเขายังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรในท้องถิ่นสร้างฐานเพาะปลูกทุเรียนที่มีมาตรฐาน ขนาด 100,000 หมู่ (ราวกว่า 41,666 ไร่) การปลูกทุเรียนขนาดใหญ่จะช่วยยกระดับการเกษตรพืชเมืองร้อน ชาวจีนได้กินผลไม้สดโดยตรง
ที่ผ่านมา จีนพึ่งพิงทุเรียนแช่แข็งที่นำเข้าจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รสชาติอาจจะตกลงบ้าง ทุเรียนซันย่ามีข้อได้เปรียบในด้านเวลาโดยธรรมชาติ สามารถนำผลสุกบนต้นเข้าสู่ตลาด ตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศที่อยากกินทุเรียนสดใหม่
“จีนเป็นตลาดบริโภคทุเรียนใหญ่สุดในโลก ยอดขายในแต่ละปีเท่ากับ 500,000 ตันขึ้นไป ความต้องการในตลาดมหาศาล ไห่หนันมีเงื่อนไขสภาพอากาศคล้ายคลึงกับแหล่งปลูกทุเรียนในไทย และมาเลเซีย ดังนั้น ทุเรียนไห่หนันจึงมีโอกาสการค้าในตลาด” เฝิงเสวียเจี๋ย กล่าวอย่างเชื่อมั่นในอนาคตของทุเรียนไห่หนัน
ทุเรียนไห่หนัน จะท้าทายการครอบงำตลาดจีนของทุเรียนไทย กับทุเรียนมาเลย์ หรือไม่
ในแวดวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเห็นพ้องว่า ในระยะสั้นทุเรียนไห่หนันจะไม่มีผลกระทบใด ทว่าในระยะยาวแล้วมีการวิเคราะห์และการประเมินที่แตกต่างกันไป
กระแสวิเคราะห์หนึ่งมองว่าทุเรียนจีนจะไม่กระทบการส่งออกทุเรียนไทยเพราะซัปพลายที่จำกัด ชาวจีนยังชื่นชอบรสชาติทุเรียนไทย และจัดเป็นสินค้าเกรดพรีเมียมสำหรับชาวจีน
Sam Sin ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาของ S&F Produce Group ในฮ่องกง ซึ่งเป็นเจ้าของไร่ในไทยและเป็นผู้คัดเลือกผลไม้เขตร้อนเพื่อส่งออกจากผู้เพาะปลูกไทยรายอื่นๆ มองว่า ทุเรียนที่ปลูกในไห่หนันซึ่งมีสภาพอากาศกึ่งเขตร้อนไม่อาจสู้คุณภาพผลไม้ที่ปลูกในไทยซึ่งมีชื่อเสียงอันน่าอิจฉาในจีนอยู่แล้ว
บางกลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่า ราคาทุเรียนในประเทศจีนอาจลดลง และน่าจะมีการส่งเสริมความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญทุเรียนมาเลย์ Lim Chin Khee ผู้เดินทางไปจีนทุก 2 เดือนเพื่อช่วยการเพาะปลูกทุเรียนของเกษตรจีน กล่าวว่าเขาไม่คิดว่าผลผลิตผลไม้เขตร้อนของจีนจะพุ่งสูงมากนัก และอาจมีพายุไต้ฝุ่นทำให้ผลผลิตเสียหาย สำหรับจีนกับมาเลย์แล้ว “น่าจะเป็นการชดเชยเติมเต็มให้กันมากกว่าการแข่งขันกัน”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศที่ส่งออกทุเรียนไปจีนต่างติดตามความก้าวหน้าในระยะยาวของจีน โดยมีการวิเคราะห์หนึ่งชี้ว่าถ้าไห่หนันเริ่มปลูกทุเรียนจำนวนมากขึ้นๆ ป้อนตลาดในประเทศ เมื่อซัปพลายทุเรียนไห่หนันมากถึงระดับเพียงพอ ก็จะอาจจะลดการนำเข้าจากต่างประเทศหรือไม่?
โดยมีนักวิเคราะห์ลกลุ่มหนึ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นในตัวเองของเหล่าชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจถูกสั่นคลอนจากปัจจัยต่างๆของจีน ได้แก่ ความมุ่งมั่นแรงกล้า เทคโนโลยี ราคาที่ถูกลง ซึ่งทำให้ผลไม้ของไห่หนันผงาดขึ้นมาก็เป็นได้
ขณะที่นักวิจัยจีน หวังหมิง จากสถาบันการพัฒนาชนบทจีนของสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมศาสตร์จีน ชี้ว่า แหล่งผลไม้เขตร้อนในจีนยังมาจากการนำเข้าและรสชาติของผลไม้เหล่านี้ก็ยากที่จะเลียนแบบหรือทำให้เหมือนได้
*หมายเหตุ หน่วยวัดขนาดที่ดินของจีน 1 หมู่ เท่ากับประมาณ 0.41666 ไร่ หรือ 666.6666 ตารางเมตร
** หน่วยวัดน้ำหนักสินค้าจีน 1 จิน เท่ากับ ครึ่งกิโลกรัม
ที่มาข่าว
这个夏天和海南榴莲更配哦
海南榴莲预计2024年批量上市,年产量或超4.5万吨 45000
海南榴莲上市在即!产量约50吨,短期内实现“榴莲自由”的可能性不大
Hainan eager for first durian crop