xs
xsm
sm
md
lg

แผนสร้างทางรถไฟ “โลบิโตแอตแลนติก” มะกันเตรียมเปิดหน้าชกจีนหวังชิงขุมทรัพยากรในแอฟริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เปิดตัวโครงการความเป็นหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในโลก(PGII) เพื่อต่อกรกับโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง(Belt and Road Initiative) ของจีน ระหว่างการประชุมสุดยอดจี-7 ที่เยอรมนีเมื่อปี 2565 – ภาพ : เอพี
สหรัฐฯ เตรียมลุยอิทธิพลจีนในทวีปแอฟริกา เล็งสร้างทางรถไฟขนส่ง หวังเบียดจีนเข้าถึงแหล่งทรัพยากรแร่พลังงานสะอาด

จากการเปิดเผยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ขณะนี้บรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐฯ (DFC) กำลังศึกษาข้อเสนอการใช้เงินจำนวน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการก่อสร้าง “ทางรถไฟโลบิโตแอตแลนติก” (Lobito Atlantic Railway Corridor) เชื่อมระหว่างประเทศแองโกลา คองโก และแซมเบีย ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

การก่อสร้างดังกล่าวอยู่ใน โครงการความเป็นหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในโลก (PGII) ซึ่งกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี7 ริเริ่มขึ้นเพื่อระดมทุน 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า ต่อกรกับโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของจีน

ผู้นำสหรัฐฯ ระบุในการประชุมผู้นำจี7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ทางรถไฟโลบิโตแอตแลนติก” จะทำให้ชาติจี7 มีความมั่นคงในการเข้าถึงแร่ธาตุสำคัญทางอุตสาหกรรม หรือนำไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น ทองแดง และโคบอลต์ ซึ่งนำมาใช้ผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

คองโกเป็นชาติผู้ส่งออกโคบอลต์รายใหญ่สุด หรือราวร้อยละ 70 ในโลก ขณะที่แซมเบียอุดมสมบูรณ์ทั้งแร่ทองแดงและโคบอลต์ ส่วนแองโกลาเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดชาติหนึ่งในแอฟริกา และยังเป็นแหล่งเหมืองเพชรอีกด้วย

ขบวนรถไฟโดยสารแล่นออกจากสถานีเมืองโลบิโต ไปตามทางรถไฟเบนกัวลาในแองโกลา เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 โดยบริษัทไชน่าเรลเวย์ 20 บิวโร กรุ๊ป (CR20) เป็นผู้ก่อสร้างทางรถไฟสายนี้เมื่อปี 2549 และส่งมอบในปี 2562 เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่สุดในแองโกลาหลังจากสงครามกลางเมือง มีระยะทาง 1,344 กิโลเมตร จากเมืองท่าโลบิโตริมมหาสมุทรแอตแลนติกไปถึงเมืองชายแดนติดคองโก - ภาพ : ซินหัว
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามเข้าถึงแหล่งทรัพยากรแร่สำคัญในแอฟริกา แต่ถูกจีนควบคุมตลาดการผลิตและขบวนการแปรรูปส่วนใหญ่ เช่น โคบอลต์ ลิเทียม และกราไฟต์ ซึ่งล้วนแล้วจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในโลก รวมทั้งจีนยังควบคุมโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสำคัญในแองโกลา งานนี้จึงเท่ากับสหรัฐฯ เปิดหน้าแข่งขันโดยตรงกับจีน ซึ่งมีหลายบริษัทเข้ามาลงทุนที่นี่ โดยแร่โคบอลต์ที่จีนหาได้กว่าร้อยละ 60 นั้นมาจากคองโก

ปัจจุบันภูมิภาคแห่งนี้มี “ระเบียงโลบิโต” (Lobito corridor) เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งแร่จากคองโกและแซมเบียไปยังท่าเรือโลบิโตของแองโกลา ซึ่งอยู่ริมมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างๆ


“ระเบียงโลบิโต” ประกอบด้วยทางรถไฟหลายช่วง ซึ่งบางช่วงทรุดโทรม หรือได้รับความเสียหายจากสงคราม เช่น ช่วงเมืองเบนกัวลา ของแองโกลา ระยะทาง 1,344 กิโลเมตร โดยจีนได้ให้เงินกู้ในการก่อสร้างซ่อมแซม หรือสร้างส่วนต่อขยายในหลายโครงการ แต่ยังไม่สำเร็จทั้งหมด

บริษัทเหมืองแร่หลายรายในภูมิภาคระบุว่า ทางเดินรถไฟที่สหรัฐฯ หมายมั่นปั้นมือนี้จะทำให้การขนส่งรวดเร็วขึ้นจากเดิม ที่ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ จะเหลือแค่หลายวันเท่านั้น


ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น