หน่วยงานท้องถิ่นเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน เปิดเผยการค้นพบฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์รวม 53 ชิ้น อายุเก่าแก่ราว 120 ล้านปี ซึ่งรวมถึงชิ้นใหญ่สุดความยาว 43 เซนติเมตร ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติรอยเท้าไดโนเสาร์เอ้อทัวเค่อ เมืองเอ้อเอ่อร์ตัวซือ
จางลี่ฟู นักวิจัยท้องถิ่นระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและทะเลสาบที่มีพืชพรรณอุดมสมบูรณ์ในยุคครีเทเชียส (cretaceous) รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ โดยฟอสซิลรอยเท้าที่พบนี้เป็นของไดโนเสาร์กินเนื้อ
อนึ่ง เขตอนุรักษ์ฯ ครอบคลุมพื้นที่ 46,410 เฮกตาร์ (ราว 290,000 ไร่) เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติระดับชาติแห่งเดียวในจีนที่มีรอยเท้าไดโนเสาร์เป็นหลัก โดยมีการค้นพบฟอสซิลรอยเท้าเกือบ 10,000 ชิ้น จากไดโนเสาร์ในบริเวณดังกล่าวมากกว่า 10 ชนิด พร้อมฟอสซิลของสัตว์มีกระดูกสันหลังโบราณ ปลา เต่า จระเข้ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และสัตว์อื่นๆ
ตั่งจ้านผิง เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดการเขตอนุรักษ์ธรรมชาติระดับชาติเอ้อเอ่อร์ตัวซือตะวันตก กล่าวว่า สำนักงานฯ กำลังดำเนินงานปกป้องฟอสซิลที่ถูกค้นพบเหล่านี้