xs
xsm
sm
md
lg

จีนพบฟอสซิล ‘ปีศาจแห่งทะเล’ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ใกล้ยอดเขาสูงสุดในโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนค้นพบซากฟอสซิล “หิมาลายาซอรัส” (Himalayasaurus) สัตว์นักล่าใต้ทะเลลึกยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 2 รายการ บริเวณพื้นที่ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 4,000 เมตร ในเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

รายงานระบุว่า มีการค้นพบซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัสใกล้กับตำบลกังกา ของอำเภอติ้งรื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากเบสแคมป์ภูเขาโชโมลังมาราว 100 กิโลเมตร โดยการค้นพบนี้จะเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต และส่งเสริมการศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคระหว่างมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era)

หิมาลายาซอรัส ถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานสูญพันธุ์ที่เคยครอบครองท้องทะเลเมื่อ 210 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ไดโนเสาร์จะครอบครองผืนดิน โดยหิมาลายาซอรัส มีปากยาว ฟันแหลมคม และลำตัวยาวมากกว่า 10 เมตร จัดเป็นนักว่ายน้ำตัวฉกาจที่กินปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เป็นหลัก

คณะนักวิจัยของจีนเคยค้นพบซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัส ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1960 ระหว่างการสำรวจพื้นที่ภูเขาโชโมลังมา ซึ่งยกตัวขึ้นจากทะเลลึกเพราะการชนกันของแผ่นเปลือกโลก และกลายเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกวันนี้

ส่วนการค้นพบครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้โดยทีมสำรวจอันประกอบด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งกำลังมุ่งวิจัยขนาด พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ของหิมาลายาซอรัสในปัจจุบัน

หวังเวย นักวิจัยร่วมของสถาบันระบุว่าฟอสซิลเหล่านี้ประกอบด้วยกระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงสภาพดีที่หาได้ยากในการค้นพบก่อนหน้านี้ โดยส่วนตัดขวางของกระดูกมนุษย์มีขนาดเท่าเหรียญ แต่ส่วนตัดขวางของกระดูกสันหลังที่เพิ่งค้นพบมีขนาดราวหมวกเบสบอล

คณะนักวิจัยวางแผนแกะซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัสออกจากก้อนหินที่ล้อมรอบ และตรวจสอบซากฟอสซิลเหล่านี้อย่างละเอียดด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์และการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ในอนาคตอันใกล้

เติ้งเทา หัวหน้าสถาบันกล่าวว่า ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการขนาดมหึมาสำหรับการสังเกตการณ์วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยคณะนักวิจัยจะมุ่งปรับปรุงประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิตกว่า 200 ล้านปีบนที่ราบสูงแห่งนี้ให้สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เติ้ง กล่าวว่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตในยุคแรกได้รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานจำนวนมากและเติมเต็มความรู้ด้านบรรพมานุษยวิทยา ส่วนการค้นพบใหม่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาช่วยนักบรรพมานุษยวิทยาตรวจสอบบทบาทสำคัญของที่ราบสูงแห่งนี้ที่มีต่อวิวัฒนาการของความหลากหลายทางชีวภาพในมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era)




กำลังโหลดความคิดเห็น