สำนักข่าวซินหัวรายงาน, 19 พ.ค. - เมื่อไม่นานมานี้ มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน ขุดค้นพบฟอสซิลไข่และเศษเปลือกไข่บางส่วนจากรังของ “โอวิแรปเตอโรซอร์” (Oviraptorosaur) ไดโนเสาร์เจ้าของฉายา “จอมขโมยไข่” ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย
หวังเฉียง นักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน สันนิษฐานว่า ไข่ไดโนเสาร์ที่พบในหมู่บ้านหวงจู๋ อำเภอซ่างหางของเมืองหลงเหยียน อาจอยู่ในระยะฟักตัวหรือฟักเป็นตัวแล้ว ขณะเปลือกไข่บางส่วนแตกออกจากการฟักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
สถาบันสำรวจทางธรณีวิทยาฝูเจี้ยนระบุว่าฟอสซิลไข่มีสภาพสมบูรณ์ดีอย่างน้อย 6 ใบ โดยการค้นพบนี้มอบความรู้ล้ำค่าแก่การศึกษาด้านภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา ภูมิศาสตร์บรรพกาล และนิเวศวิทยาบรรพกาลในฝูเจี้ยน และภูมิภาคตอนใต้ของจีน
อนึ่ง อำเภอซ่างหางเคยค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์สภาพสมบูรณ์เมื่อราว 3 ปีก่อน ขณะการค้นพบใหม่นี้ถือเป็นการค้นพบฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ครั้งแรกของอำเภอ