โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังในประเด็นที่อาจจะไม่ค่อยมีการกล่าวถึงนัก คือ เรื่องของความเชื่อและการนับถือศาสนาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ต้องเน้นย้ำว่าแผ่นดินใหญ่ เพราะชาวจีนแผ่นดินใหญ่มีความเชื่อและแนวคิดหลายอย่างแตกต่างจากกับชาวจีนฮ่องกงและชาวจีนไต้หวัน เนื่องมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า หรือศาสนา กลายเป็นจุดศูนย์กลางทางอำนาจและยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนแผ่นดินใหญ่
มีบทความหนึ่งกล่าวถึงจำนวนคนที่นับถือศาสนาพุทธในจีนเอาไว้ว่า ปัจจุบันชาวจีนแผ่นดินใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ต้องเคยได้ยินเกี่ยวกับ “พุทธ” (佛)ในจำนวนคน 90 เปอร์เซ็นต์นี้เคยไปวัดไหว้พระมีจำนวนมากถึงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ในจำนวนนี้เคยเห็นและอ่านพระไตรปิฎกมีไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ มีการประมาณการว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เชื่อและศรัทธาในศาสนาพุทธจริงๆมีเพียง 80,000 คนเท่านั้น และในจำนวนนี้มีแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ปฏิบัติธรรมและกราบไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ
ผู้เขียนอยากจะแชร์เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้ไปไหว้พระที่วัดยงเหอกง หรือวัดลามะในปักกิ่งเมื่อไม่นานมานี้ วันที่ผู้เขียนไปเป็นวันธรรมดาที่ไม่ใช่สุดสัปดาห์หรือวันหยุดแต่ปรากฏว่าคนเยอะมากๆ และคนส่วนใหญ่ที่เห็นคือคนรุ่นใหม่ การเข้าไปสักการะวัดลามะจะต้องซื้อบัตรเข้าไป 25 หยวน หรือประมาณ 125 บาท
วัดลามะเป็นวัดขนาดไม่ใหญ่มาก ใช้เวลาในการสักการบูชาทั้งสิ้นประมาณ 2 ชั่วโมงก็เพียงพอ อีกไฮไลต์สำคัญของการมากราบไหว้วัดลามะ คือ การเช่าเครื่องสักการบูชา เครื่องรางต่างๆ ที่ฮิตกันมากตอนนี้คือกำไลข้อมือที่มีความหมายต่างๆ ของวัด หลังจากเช่ากำไลข้อมือออกมาแล้วต้องเอาไปเข้าพิธีปลุกเสก ซึ่งในส่วนของพื้นที่ให้เช่าเครื่องสักการบูชาของวัดลามะปัจจุบันเพิ่มเป็น 3 จุด จากแต่ก่อนที่มีเพียงจุดเดียว และทุกจุดมีคนต่อแถวยาว
ผู้เขียนค้นหาเกี่ยวกับกำไลข้อมือของวัดลามะว่ามีดีอะไร ถึงทราบว่าชาวจีนที่มาเช่าเชื่อว่ากำไลข้อมือของวัดลามะมีความศักดิ์สิทธิ์เพราะมวลสารที่นำทำกำไลคือขี้เถ้าผงธูปที่คนมาสักการบูชาไหว้พระที่วัด คนที่เช่าไปและบูชาดีๆ จะนำโชคลาภมาสู่ผู้ครอบครอง และราคาของกำไลข้อมือของวัดลามะราคาก็ไม่ถูกเลย เฉลี่ยประมาณ 350 หยวน หรือประมาณ 1,750 บาท
จากประสบการณ์ตรงนี้เอง ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยในความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนจีนในปัจจุบัน ในด้านของความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคลที่ประชาชนจีนสามารถมีความเชื่อได้ รัฐบาลจีนไม่ได้ห้าม แต่ห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่
มีรายงานจาก China Family Panel Studies ระบุว่าคนจีน 89.6 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าตนเองไม่มีศาสนา มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่านับถือศาสนา ในจำนวนนี้ 6.7 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาพุทธ และ 1.9 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาคริสต์ และ 0.5% นับถือศาสนาอิสลาม รายงานนี้เก็บตัวอย่างจากพื้นที่ที่มีชาวฮั่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากไม่ใช่พื้นที่ชนกลุ่มน้อย
จากที่ผู้เขียนได้เกริ่นแสดงข้อมูลสถิติไปแล้วว่า คนจีนจำนวนมากไม่นับถือศาสนา แต่กลับมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อในการไปวัดจุดธูปกราบไหว้และอธิษฐานจิตขอพร ขอโชคลาภต่างๆ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวดังหนึ่งที่กลายเป็นที่ถกเถียงในโซเชียลจีนอย่างมาก คือ “กลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมไปวัดจนเบียดเสียด จุดธูปจริงจังกว่าการเรียนหนังสือ คนรุ่นใหม่พวกเขาอยากจะทำอะไรกันแน่!” การจุดธูปบูชาพระได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาวชาวจีน
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีนี้ เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่จองตั๋วเข้าวัดเป็นกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1990-2000 หลังจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ คนหนุ่มสาวจีนจำนวนมากขึ้นเข้าแถวยาวที่วัดลามะ โดยมีรายงานและข้อมูลที่เปิดเผยโดยค่ายสื่อชั้นนำของจีน เดอะ เปเปอร์ (ThePaper.cn) ระบุว่าในปีนี้ยอดซื้อตั๋วแหล่งท่องเที่ยวที่วัดในที่ต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 310 เปอร์เซ็นต์
มีการถกกันว่า คนจีนยุคใหม่เข้าวัดจุดธูปไหว้พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อหาที่พึ่งทางจิตใจ คลายความเครียดจากแรงกดดันในชีวิต คนรุ่นใหม่มีความเชื่อที่ว่า "ในโลกนี้มีเพียงพระโพธิสัตว์ และเงินเท่านั้นที่ไม่หลอกลวง"
ช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมา วัดลามะในปักกิ่งเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะ โดยในเดือน ม.ค. มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเฉลี่ยสูงถึงวันละ 60,000 คน รายได้เฉพาะค่าตั๋วในไตรมาสแรกของปีนี้วัดลามะเก็บได้มากกว่า 67 ล้านหยวนแล้ว ยังไม่รวมรายได้จากการออกเช่าเครื่องสักการบูชาแบบต่างๆ อีก ซึ่งตัวเลขรายได้จริงของวัดลามะไม่ได้เป็นที่เปิดเผย จะเห็นได้ว่า “พุทธพาณิชย์” ในจีน มีความเข้มข้นอยู่พอสมควร ไม่ใช่แค่วัดลามะ แต่วัดอื่นๆ ทั่วจีนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีการขายตั๋วในนักท่องเที่ยวและนักแสวงบุญแทบทั้งสิ้น เช่น วัดเส้าหลิน ที่มณฑลเหอหนาน ในแต่ละปีมีรายได้เฉพาะการขายตั๋วมากกว่าปีละ 300 ล้านหยวน
รายได้ต่างๆ ที่เข้าวัดก็คือรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่น วัดลามะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเทศบาลนครปักกิ่ง ดังนั้น “พุทธพาณิชย์” ยิ่งเติบโตมากเท่าไหร่ รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น การที่ประชาชนจากทั่วประเทศไปสักการบูชาที่วัดลามะ รวมถึงเช่าเครื่องบูชา รัฐบาลเป็นผู้ได้ประโยชน์ในด้านรายได้ ดังนั้น การที่ผู้คนแห่แหนกันไปกราบไหว้ รัฐบาลก็ไม่ได้ห้าม และก็ไม่ได้มีท่าทีสนับสนุน จนมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มองว่า “พุทธพาณิชย์” กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนแนวใหม่ ความเชื่อในพระเจ้าช่วยกระตุ้นและขยายการบริโภคได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น แหล่งท่องเที่ยวจีนและวัดต่างๆ ก็ควรออกผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมใหม่ๆ เพื่อให้โดนใจผู้บริโภค
สํานักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้เกี่ยวกับยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทางสังคมในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 5.8% ในจำนวนนี้ได้รวมการใช้จ่ายของประชาชนด้าน “พุทธพาณิชย์” เข้าไปด้วย เช่น วัดลามะได้ออกผลิตภัณฑ์กำไลบูชาแบบต่างๆ ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่มากเพราะ หนึ่งการออกแบบที่ทันสมัย สองชูเรื่องมวลสารที่นำมาผลิตมาจากผงธูปที่คนมาสักการะกราบไหว้ สามเรื่องความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ที่บอกต่อกันมาปากต่อปาก
ดังนั้น ศาสนาพุทธนับว่าเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลในจีนมากที่สุดในปัจจุบัน คนจีนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาแต่มีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไปจุดธูปเคารพบูชาพระพุทธรูปเทพเจ้าต่างๆ และความเชื่อ ความศรัทธาก่อให้เกิดผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจ “ในรูปแบบพุทธพาณิชย์” ทำให้หลายวัดดังในจีนแต่ละปีสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น สร้างงาน และสร้างรายได้