ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการเติบโตของยอดค้าปลีกในเดือนเมษายนของจีนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสูญเสียพลวัตการเติบโตในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 และเพิ่มแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายในการฟื้นตัวหลังโควิด
ข้อมูลที่เปิดเผยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) เมื่อวันอังคาร (16 พ.ค.) แสดงให้เห็นว่าการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่การเติบโตทั้งในประเทศและการส่งออกยังคงด้อยประสิทธิภาพ
รายงานระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนขยายตัวร้อยละ 5.6 จากปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 10.9 ในขณะที่ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 21.0
นายบรูซ ผัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า "ข้อมูลที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ในวันนี้ แสดงให้เห็นว่ามันยากเพียงใดในการทำให้กลไกการเติบโตทำงานหลังจากเริ่มต้นระบบใหม่"
นักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ ระบุว่า เมื่อความผิดหวังเริ่มเข้ามา เราเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของขาลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอ่อนแอลง การว่างงานเพิ่มขึ้น ภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง และเงินอ่อนค่าลง
ข้อมูลอื่นๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นการนำเข้าที่หดตัวในเดือนเมษายน สินเชื่อธนาคารที่แย่กว่าที่คาดไว้ส่งสัญญาณถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ เพิ่มแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะที่การเติบโตทั่วโลกหยุดชะงัก
ธนาคารกลางของจีนยังคงอัตราดอกเบี้ยในวันจันทร์ (15 พ.ค.) ตามที่คาดไว้ ในขณะที่นายโจว ฮ่าว นักเศรษฐศาสตร์จาก Guotai Junan International คาดว่า ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังคงอยู่
เมื่อปลายเดือนเมษายน คณะรัฐมนตรีของจีนเปิดเผยแผนการกระตุ้นการจ้างงานและการค้า เนื่องจากรัฐบาลพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตในระดับปานกลางที่ประมาณร้อยละ 5 ในปี 2566 หลังจากที่พลาดเป้าหมายไปอย่างมากในปีที่แล้ว
รัฐบาลจีนยังต้องต่อสู้กับอุปสรรคจากความล้มเหลวของธนาคารตะวันตกเมื่อเร็วๆ นี้ ต้นทุนการกู้ยืมทั่วโลกที่สูงขึ้น หนี้ภายในประเทศที่ปรับตัวสูง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
อัตราว่างงานของเยาวชนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 20.4 ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.6 ในเดือนมีนาคม ซึ่งนายจาง จื้อเหว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pinpoint Asset Management ชี้ว่าเป็น "สัญญาณที่น่าเป็นห่วง"
ที่มา สำนักข่าวรอยเตอร์