xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันเสนอตัวอย่าง "การพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน หลังยุคโควิด-19" หวังร่วมประชุมอนามัยโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไต้หวันถอดบทเรียนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหลังพ้นการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งหวังให้นานาชาติสนับสนุนให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA)

บทความโดย ดร.จวง ซั่ว ฮั่น ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย

ปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) กำลังเข้าสู่ปีที่ 4 สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกได้ชะลอตัวลง หลายประเทศทั่วโลกทยอยเปิดพรมแดน และเป้าหมายหลักของสาธารณสุขทั่วโลกได้เปลี่ยนจากการต่อสู้กับโรคระบาดหันไปสู่การฟื้นฟูภายหลังโรคระบาด เพื่อเร่งบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ทำให้มนุษย์ทุกคนสุขภาพดีและมีความเป็นอยู่ที่ดี (Health and well-being) หลายประเทศทั่วโลกได้เร่งผลักดันเป้าหมายการพัฒนาด้านสุขภาพที่ยั่งยืนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

ไต้หวันสนับสนุนเป้าหมาย “1 พันล้าน 3 กลุ่มเป้าหมาย” (Triple-billion targets) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การอนามัยโลก (WHO) สร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้านบริการสาธารณสุขที่มีความยืดหยุ่นและเท่าเทียมมากขึ้น สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกัน เริ่มตั้งแต่ระบบรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ ให้บริการประชาชนด้านการป้องกัน จัดการและดูแล ไต้หวันสามารถแบ่งปันประสบการณ์การสร้างความร่วมมือแบบข้ามภาคส่วน การบูรณาการ นวัตกรรมและงานสาธารณสุขทั่วโลกที่มีสุขภาพของมนุษยชาติเป็นหัวใจสำคัญ ช่วยให้ประชาคมระหว่างประเทศบรรลุเป้าหมายสุขสวัสดิ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเร็ว

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ เนื่องจากไต้หวันมีระบบสาธารณสุขที่สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ป้องกันโรคระบาดที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี มีระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบและวิเคราะห์ทางระบาดวิทยา ซึ่งสามารถช่วยชะลอการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรค ไต้หวันสามารถวางแผนล่วงหน้าและการตอบสนองอย่างรวดเร็ว สร้างรูปแบบการรับมือกับโรคระบาดที่สมบูรณ์ เช่น นโยบายควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวด การตรวจสอบคัดกรองโรคที่แม่นยำ การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ ระบบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และการจัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับป้องกันโรค เพื่อรอวัคซีนและยาต้านไวรัสจัดจำหน่าย นอกจากนี้ ชาวไต้หวันยังให้ความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ทำตามแนวทางปฏิบัติกักตัวและฉีดวัคซีน เป็นต้น 

เมื่อเทียบกับ 38 ประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และสิงคโปร์แล้ว อัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตสะสมจากโรคโควิด-19 ต่อประชากร 1 ล้านคน ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 6 ส่วนอัตราการวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยหนึ่งโดส ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 4 และส่วนอัตราการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ (booster) ต่อประชากร 1 ล้านคน ไต้หวันสูงอยู่ในอันดับที่ 3

ดร.จวง ซั่ว ฮั่น  ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย
การส่งเสริมสุขภาพและสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health For All)

5พี (5P) ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ผลักดันให้มีความสำคัญเป็นอันดับแรกนั้น คือ การส่งเสริมสุขภาพ (Promoting) การแบ่งปันผลลัพธ์ด้านสุขภาพ (Providing) ความปลอดภัยอนามัย (Protecting) การเพิ่มขีดความสามารถ (Powering) การสร้างเสริมการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก (Performing) ทั้งนี้ การส่งเสริมสุขภาพเป็นภารกิจสำคัญสุด และใน “กรอบมนุษย์ทุกคนสุขภาพดีและมีความเป็นอยู่ที่ดี” ขององค์การอนามัยโลก ได้ชี้ให้เห็นความแน่วแน่ในการผลักดันส่งเสริมสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ตั้งแต่ปี 1995 ไต้หวันได้ผลักดันระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance หรือ NIH) เดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพ (Promotion) และป้องกันโรค (Prevention) อย่างต่อเนื่องให้ชาวไต้หวันในแต่ละช่วงวัย ทำให้ชาวไต้หวันได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงมี สำหรับการดูแลสตรีมีครรภ์และทารกแรกเกิด ไต้หวันให้บริการตรวจสุขภาพก่อนคลอด การคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคัดกรองภาวะโลหิตจางและตรวจอัลตราซาวนด์ 3 ครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์และดูแลสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือและสนับสนุนผู้มีบุตรยากและลดภาระทางการเงินของการทำเด็กหลอดแก้ว ไต้หวันได้ขยายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้นมบุตร รวมถึงให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพเด็กเล็กเชิงป้องกันและการให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพเด็ก

นอกจากนี้ สำหรับการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ไต้หวันได้ผลักดันโครงการป้องกันรักษาภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) แทรกแซงการใช้ชีวิตของบุคคลเฉพาะกลุ่ม ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น ให้คำแนะนำการกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การเลิกบุหรี่ การเลิกกินหมาก ช่วยปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังในอนาคต ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และน้ำตาลในเลือดสูง

นอกจากนี้ ไต้หวันยังสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันรักษาโรคมะเร็งแห่งชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประสงค์ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งให้ได้ 25% ภายในปี 2025 ไต้หวันอยากจะมีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาโรคมะเร็งทั่วโลกมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดภายในปี 2030 ไต้หวันจัดทำงบประมาณสนับสนุนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) โดยให้การฉีดวัคซีนดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการฉีดวัคซีนแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2018 เป็นต้นไปให้นักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมต้น (อายุระหว่าง 12-15 ปี) ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ปี 2022 มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงถึงร้อยละ 92.1

นวัตกรรมเทคโนโลยีและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ประสบความความสำเร็จตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรคโควิด-19 ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาค และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้กับการแพทย์มากขึ้น โดยไต้หวันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสุขภาพเชิงดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและยกระดับคุณภาพบริการด้านสุขภาพ รวมถึงพัฒนา “โครงการยกระดับระบบข้อมูลการแพทย์รุ่นใหม่ข้ามยุคสมัย” ยกระดับระบบการแพทย์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากลมากขึ้น ประยุกต์ใช้รูปแบบการรักษาพยาบาลรูปแบบใหม่ ใช้ระบบการแพทย์ทางไกลบริการแบบเรียลไทม์แก่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลและหมู่เกาะรอบเกาะไต้หวัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับการเทคโนโลยีอื่นๆ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไต้หวันได้ออกใบอนุญาตให้จำหน่ายยาสมุนไพรจีนสูตรชิงก้วนหมายเลข 1 (NRICM101) จำนวน 13 ฉบับ ช่วยเหลือประเทศอื่นในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคโควิด-19 นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างกำลังการผลิตหรือการจัดหาวัตถุดิบหลักภายในประเทศในช่วงหลังการแพร่ระบาด เพื่อให้มั่นใจว่าจะจัดหาวัตถุดิบหลักได้และป้องกันการขาดแคลนยาในอนาคต

นอกจากนี้ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านสุขภาพระดับโลกแล้ว ไต้หวันจะกระชับความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อแบ่งปันนวัตกรรมเทคโนโลยี ประสบการณ์ และการปฏิบัติให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ภาพจาก AFP
ไต้หวันช่วยได้และไต้หวันกำลังช่วยอยู่ (Taiwan can help, and Taiwan is helping!)

ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ไต้หวันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) มาหลายปีแล้ว ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ใกล้จะสิ้นสุดลง และขณะที่ทั่วโลกกำลังหารือส่งเสริมระบบสาธารณสุข ไต้หวันช่วยได้และไม่ควรถูกมองข้าม การมีส่วนร่วมของไต้หวันจะทำให้โลกมีสุขภาพที่ดีขึ้น ยั่งยืนกว่าเดิม และมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

ไต้หวันขอเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) และทุกฝ่ายร่วมสนับสนุนให้ไต้หวันมีส่วนร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ไต้หวันได้เข้าร่วมอย่างเต็มที่ในการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อดำเนินการบรรลุบทบัญญัติตามกฎบัตรขององค์การอนามัยโลก (WHO) “สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave no one behind)


กำลังโหลดความคิดเห็น