xs
xsm
sm
md
lg

โควิดสายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.9.1. ครองพื้นที่ระบาดเมืองกว่างโจว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คลินิกไข้เฉียบพลันของมหาวิทยาลัยการแพทย์กว่างโจว ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2565 - ภาพ : VCG
คลินิกไข้เฉียบพลัน (fever clinic) ทั่วเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตงทางภาคใต้ของจีน ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ราว 20-25% ของผู้ป่วยที่มารักษา โดยสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในเมืองขณะนี้คือ สายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.9.1. จากการเปิดเผยของนายจง หนันซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจชั้นนำของจีนเมื่อวันจันทร์ (15 พ.ค.)
 
ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีนระบุว่า โอมิครอน XBB.1.9.1. ถูกนำเข้ามาในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ 2 เดือนก่อน โดยพบผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นครั้งแรกระหว่างวันที่ 3-9 มี.ค. และยอดสะสมผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 100 คนเมื่อวันที่ 14 เม.ย.

 
ปัจจุบัน XBB.1.9.1. กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศและภูมิภาค เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ องค์การอนามัยโลกกำลังเฝ้าติดตามเชื้อสายพันธุ์นี้ โดยระบุว่า มีการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่ทำให้เกิดอาการไม่รุนแรง

 
นายจง ระบุว่า ระดับแอนติบอดีต้านโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในร่างกายเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นได้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ดังนั้น หากมองในมุมนี้ก็มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนแล้วราว 85% ของประชากรทั้งประเทศ หรือราว 1,100-1,200 ล้านคน จากผลการตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อของประชากรจีนอาจอ่อนแอเมื่อเจอกับ XBB.1.9.1. หากพิจารณาจากช่วงระยะเวลาที่ประเทศจีนเริ่มการระบาดใหญ่เมื่อ ธ.ค.ปีที่แล้ว โดยผลการศึกษาวิจัยในหลายประเทศพบว่า ภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ประสิทธิภาพของแอนติบอดีในการป้องกันจะอยู่ได้นาน 4-6 เดือน
 
นายจง กล่าวระหว่างร่วมพิธีเปิดการวิจัยทางคลินิกยาเม็ดเลริเทรลเวียร์ (Leritrelvir) หลังจากยารักษาโควิด-19 ซึ่งจีนคิดค้นและพัฒนาขึ้นครั้งแรกในประเทศตัวนี้ได้รับการอนุมัติอย่างมีเงื่อนไข และเริ่มนำมาใช้รักษาผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่มีอาการเล็กน้อยจนถึงปานกลางเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผลวิจัยแสดงว่า ยาตัวนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยาแพ็กซ์โลวิดของบริษัทไฟเซอร์

สำหรับขั้นตอนต่อไปในการต่อสู้กับโควิด-19 ในจีนนั้น นายจง ระบุว่า จำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ XBB ทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ และวัคซีนที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีน (recombinant protein vaccine) สำหรับเป้าหมายหลักคือประชากรกลุ่มเสี่ยง นอกจากนั้น การรักษาด้วยยาอย่างทันท่วงทีเมื่อติดเชื้อก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมากเช่นกัน

ที่มา : โกลบอลไทมส์



กำลังโหลดความคิดเห็น