xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : วันแรงงานจีนปีนี้คนออกเที่ยวมหาศาล แต่การใช้จ่ายลดลง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักท่องเที่ยวเยือนเมืองโบราณโหย่วโจว อำเภอปกครองตนเองโหย่วหยาง กลุ่มชาติพันธุ์ถู่เจียและเหมียว เทศบาลนครฉงชิ่ง ภาพวันที่ 1 พ.ค. 2023 (แฟ้มภาพซินหัว)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

วันหยุดแรงงาน 5 วันติดต่อกันในจีนได้ผ่านไปแล้ว โดยวันหยุดเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. หลายสื่อในจีนและต่างประเทศต่างจับตาการออกเดินทางท่องเที่ยวของคนจีนในช่วงนี้ว่าจะมีคนจำนวนมากที่เดินทางออกเที่ยวล้างแค้น หลังจากอัดอั้นเพราะการล็อกดาวน์จากโควิด-19 มายาวนาน อีกทั้งช่วงวันแรงงานก็เป็นเวลาประจวบเหมาะที่รัฐบาลท้องถิ่นพื้นที่ต่างๆ ออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวและดึงดูดให้คนหลั่งไหลมาเที่ยวในพื้นที่ของตนเอง ในส่วนของรัฐบาลกลางเองหวังว่าวันหยุดยาวช่วงแรงงานนี้จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศให้ดีขึ้น ประชาชนออกท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่แหล่งชุมชน

ปีนี้หนึ่งในเมืองที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศมากที่สุดคือ เมืองจือปั๋ว (淄博) ในมณฑลซานตง ที่ดังระเบิดระเบ้อจากร้านอาหารปิ้งย่างที่มีอยู่ทั่วมุมเมือง ว่ากันว่าปิ้งย่างของเมืองนี้รสชาติอร่อยและราคาเป็นมิตร ทำให้ช่วงวันแรงงานมีนักท่องเที่ยวแห่กันไปเที่ยวเมืองจือปั๋วจำนวนมาก ต่างพากันลิ้มรสปิ้งย่างและถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียลกันอย่างคึกคัก มีการประเมินว่าช่วงวันแรงงานนี้มีนักท่องเที่ยวทั่วประเทศเดินทางมาเมืองจือปั๋วกว่า 1.2 แสนคน ชาวโซเชียลจีนให้การชื่นชมกับเมืองจือปั๋วว่าบริหารจัดการต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ดีและไม่พบเหตุการณ์หลอกฟันราคากับนักท่องเที่ยว ไม่เหมือนกับหลายๆ เมืองที่มีข่าวการฉวยโอกาสช่วงเทศกาลขึ้นราคาของร้านอาหารและโรงแรม ทำให้กระแสท่องเที่ยวเมืองจือปั๋วในจีนมาแรงมาก และถึงแม้ว่าจะวันแรงงานจะหมดไปแล้วแต่ควันหลงอาหารปิ้งย่างในจือปั๋วยังเป็นที่กล่าวถึงกันอยู่

ด้านของสถิติการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันแรงงาน จากแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ต่างๆ แสดงว่า การเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายช่วงวันหยุดแรงงานดีดตัวขึ้นสูงมาก เช่น ตัวเลขจากแอปเหมยถวน แสดงว่าวันหยุดแรงงาน 3 วันแรก การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนสูงขึ้นกว่าปี 2019 ในช่วงเดียวกันถึง 133% ในส่วนของอาลีเพย์รายงานว่า วันแรงงาน 3 วันแรกจำนวนครั้งการใช้จ่ายเงินของประชาชนเพิ่มขึ้นกว่าปี 2022 ช่วงเดียวกันถึง 230% และยอดการใช้จ่ายเงินของประชาชนเพิ่มขึ้น 200% หมายถึงว่าจำนวนครั้งของการจ่ายเงินถี่ขึ้นและจำนวนเงินที่ใช้จ่ายก็เพิ่มมากขึ้น (ทั้งนี้ในรายงานไม่ได้ระบุยอดการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน)

ผู้โดยสารที่สถานีรถไฟในเมืองเยียนไถ มณฑลซานตง วันที่ 3 พ.ค. 2023 (แฟ้มภาพซินหัว)
ในด้านการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดแรงงาน จากสถิติของการรถไฟจีน การเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดแรงงานมีทั้งสิ้น 120 ล้านคน/เที่ยว เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2019 กว่า 20% ในด้านการเดินทางของประชาชนทางเครื่องบินก็เพิ่มขึ้นมาก โดยการออกตั๋วเดินทางโดยเครื่องบินของประชาชนเทียบกับปี 2022 ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นถึง 250%

ด้านกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนออกมาประกาศถึงตัวเลขทางการของประชาชนจีนที่ออกเดินทางช่วงวันหยุดแรงงานมีมากกว่า 274 ล้านคน/เที่ยว สร้างรายได้ภายในประเทศมากกว่า 1.48 แสนล้านหยวน งานนี้รัฐบาลจีนพอใจกับตัวเลขที่ออกมาพอสมควร เพราะการออกท่องเที่ยวของประชาชนช่วงหยุดยาวนี้กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ในระดับหนึ่ง

แต่ๆๆ มีการออกมาเปิดเผยว่าถึงแม้ว่าตัวเลขการเดินทางออกท่องเที่ยวในวันแรงงานปีนี้ของประชาชนจะมากมายทำลายสถิติ และดูเหมือนว่าการจับจ่ายใช้สอยจะมหาศาลตามไปด้วย แต่หากเทียบกับปี 2019 ก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว การใช้จ่ายของประชาชนเฉลี่ยต่อหัวไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย และมีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ! ผู้เขียนมองว่าประเด็นนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

หลังจากวันแรงงานจบไป มีประเด็นข่าวชิ้นหนึ่งพาดหัวข่าวว่า “วันแรงงานยอดใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อหัวลดลงกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว” สร้างความสนใจให้โลกโซเชียลจีนและกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อ โดยมีการระบุว่าปี 2017-2019 ยอดการจับจ่ายใช้สอยช่วงวันแรงงานเฉลี่ยหัวละ 603 หยวน หรือประมาณ 3,015 บาท

แต่ในปีนี้ยอดการใช้จ่ายเงินของประชาชนเฉลี่ยหัวละ 540 หยวน หรือประมาณ 2,700 บาท ทำให้เกิดคำถามต่อภาพข่าวคนเดินทางท่องเที่ยวกันมหาศาลทั่วประเทศ แต่การท่องเที่ยวของใครหลายคนอาจจะกำลังเป็นท่องเที่ยวแบบประหยัดและดาวน์เกรด (down-grade) ลงมา ไม่อู้ฟู่เหมือนกับแต่ก่อน

แหล่งท่องเที่ยวในเมืองโบราณที่นครฉงชิ่ง เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2023
กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์จีนออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปีจากโควิด-19 กระเป๋าสตางค์ของประชาชนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แค่ระยะเวลาสั้นๆ ที่เพิ่งเริ่มจะฟื้นฟูเศรษฐกิจก็เป็นการยากมากที่ความเชื่อมั่นจะกลับมาอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างต้องใช้เวลา บางคนยังไม่มีงาน ไม่มีเงินใช้จ่าย บางคนมีงานอยู่แต่ก็ต้องระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งอัตราการว่างงานของกลุ่มคนวัยรุ่นช่วงอายุ 16-24 ปียังอยู่ในระดับสูงถึง 19.6% การหางานทำยากขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนรุ่นใหม่ไม่มากมากเท่าที่ควร อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือนของพนักงานบริษัททั่วไปถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ หากเทียบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นหลังโควิด-19

ส่วนนี้เองสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจมหาภาคของจีนยังไม่ฟื้นฟูแบบ 100% การใช้จ่ายของคนในประเทศยังไม่มากเท่าที่ควร ในขณะที่การออมเงินของประชาชนจีนกลับสวนทางเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ยอดการฝากเงินของประชาชนจีนทั้งประเทศทะลุ 9.9 ล้านล้านหยวนไปแล้ว เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 50% และเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2021 ถึง 100% ทำให้เห็นว่าชาวจีนยังไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศอยู่พอสมควร!

สำหรับกลุ่มประชาชนที่เลือกออมเงินมากขึ้น ไม่เลือกจับจ่ายใช้สอย ส่วนใหญ่มองว่า ชีวิตมีภาระที่ต้องรับผิดชอบอยู่มาก ทั้งการผ่อนบ้านระยะยาว และการศึกษาของบุตรหลานที่มีต้นทุนสูง อีกทั้งด้านการประกันสุขภาพของตัวเองและครอบครัว หลายคนบอกว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่สามารถหวังพึ่งกับรัฐบาลได้!

เทรนด์ใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่หันมาใช้จ่ายอย่างประหยัด วัยรุ่นสาวรายหนึ่งแชร์ชีวิตที่กินอยู่อย่างประหยัดของตัวเองในโซเชียล ระบุเป็นวันที่ 167 ที่กินอยู่แบบประหยัด ที่มา Xiaohongshu
ประชาชนบางกลุ่มได้ให้ความเห็นในโซเชียลเกี่ยวกับประเด็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลว่า “หากรัฐบาลอยากจะกระตุ้นให้ประชาชนเอาเงินออมออกมาใช้จ่ายก็ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงของสถานการณ์ความเป็นอยู่ของประชาชนในปัจจจุบันด้วยว่ามีภาระหลายด้าน หลายครอบครัวไม่สามารถจะใช้จ่ายเงินแบบสุรุ่ยสุร่ายแบบที่ผ่านมาได้”

นอกจากกลุ่มคนจีนที่มีเงินยังสามารถเที่ยวแบบกินหรูอยู่แพงได้ (หากเทียบกับประชากรทั้งประเทศ 1,400 ล้านคน ผู้เขียนมองว่าเป็นคนส่วนน้อย) กลุ่มชนชั้นกลางบางคนออกมาคอมเมนต์ในโซเชียลว่า “อยากเที่ยว อยากใช้เงิน แต่ไม่มีเงินให้ใช้จ่าย” เลยได้แต่เที่ยวใกล้ๆ แบบประหยัด จ่ายน้อยหน่อย ดังนั้นไม่ว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายยังไงก็กระตุ้นไม่ขึ้นเพราะในมือประชาชนไม่มีเงิน ความรวยของสังคมไปอยู่ในมือกลุ่มคนเพียงหยิบมือ ดังนั้นจากประเด็นนี้เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้จีนจะประกาศชัยชนะในการขจัดความยากจนแล้วแต่ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจของคนในประเทศยังมีอยู่มาก

ไม่เพียงแต่ยอดการใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อหัวในช่วงวันหยุดแรงงานลดลง ในไตรมาสแรกของปีนี้ยอดการซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศและยอดการซื้อรถยนต์ใหม่ของประชาชนก็ไม่ค่อยกระเตื้องขึ้นเช่นกัน ตรงนี้เป็นปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนที่ท้าทายและรัฐบาลต้องพยายามหาทางแก้ไข ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนทั่วไปมีเงินในมือมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง และเรียกความมั่นใจต่อเศรษฐกิจกลับคืนมา


กำลังโหลดความคิดเห็น