ภาวะเงินเฟ้อแดนมังกรเดือน เม.ย.เติบโตในอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ภาวะเงินฝืดส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้น บ่งชี้ถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจ ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกฟื้นตัว หลังจากจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างเข้มงวดไปเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ (11 พ.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งชี้วัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือน เม.ย.2566 เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และชะลอลงจาก 0.7% ในเดือน มี.ค. เป็นการชะลอตัวอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 เป็นต้นมา นอกจากนั้น ยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากผลสำรวจของรอยเตอร์ ซึ่งประเมินว่าเงินเฟ้อเดือน เม.ย.ของจีนจะอยู่ที่ 0.4%
เงินเฟ้อที่ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขการค้าในสัปดาห์นี้ และตอกย้ำว่า ความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศยังคงเฉื่อยเนือย
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) ซึ่งชี้วัดต้นทุนสินค้าที่หน้าโรงงาน ประจำเดือน เม.ย. ของจีนปรับตัวลง 3.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวลงจาก 2.5% ในเดือน มี.ค. โดยพีพีไอของจีนอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 แล้ว และเดือน เม.ย. เป็นการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 นอกจากนั้น ยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากผลสำรวจของรอยเตอร์ ซึ่งประเมินอยู่ที่ 3.2% อีกด้วย
ที่มา : รอยเตอร์