xs
xsm
sm
md
lg

สาส์นถวายพระพรพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 บรมราชาภิเษก จีนพร้อมทำงานร่วมกับอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รองประธานาธิบดีหาน เจิ้ง ของจีน มาถึงมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ก่อนหน้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษจะเริ่มขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พ.ค.2566 - ภาพ : เอพี
ในระหว่างมีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นลง ได้ปรากฏสัญญาณบ่งชี้ความเป็นไปได้ว่า พญามังกรกับเมืองผู้ดีอาจหันมาจับมือเริ่มต้นความสัมพันธ์ฉันมิตรกันใหม่

ในพระราชพิธีอันสำคัญนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนางเผิง ลี่หยวน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งได้ส่งสาส์นถวายพระพรกษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่

จากรายงานของสำนักข่าวซินหัว ผู้นำจีนยังระบุในสาส์นฉบับนี้ด้วยว่า จีนพร้อมทำงานร่วมกับอังกฤษ เพื่อความสัมพันธ์อันมั่นคงสถาพรและก่อประโยชน์ร่วมกัน ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนลึกซึ้งที่กำลังดำเนินไปในโลก และทำให้ประชาคมนานาชาติกำลังเผชิญความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น จีนและอังกฤษในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จึงควรมีมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ การพัฒนา ความร่วมมือ และสถานการณ์ที่ได้รับชัยชนะด้วยกันทุกฝ่าย

ด้านรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ก็มีความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นว่าพยายามหาทางที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนอีกครั้ง โดยมีการหารือนอกรอบระหว่างนายเจมส์ เคลเวอร์ลี รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ กับรองประธานาธิบดี หาน เจิ้ง ของจีน ตัวแทนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการเดินทางมาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

 นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้นกล่าวยกย่องยุคทองความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีน ขณะจัดเลี้ยงต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิงในปี 2558 - ภาพ : เอเอฟพี
นายเคลเวอร์ลีได้อธิบายมุมมองของอังกฤษเกี่ยวกับฮ่องกง ซินเจียง และไต้หวันอย่างตรงไปตรงมา แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมพูดคุยเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการติดต่อระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับรองประธานาธิบดีหาน

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอังกฤษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้นำรัฐบาลอังกฤษสมัยเมื่อ 6 ปีก่อน เคยยกย่องว่าเป็นยุคทองนั้น ได้มาถึงจุดตกต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ จากความเห็นไม่ลงรอยจนนำไปสู่การคว่ำบาตรตอบโต้กันในหลายเรื่อง เช่น ข้อกล่าวหาของชาติตะวันตกว่าปักกิ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกงอดีตอาณานิคมอังกฤษ ปัญหาขัดแย้งด้านเทคโนโลยีและความมั่นคง โดยในขณะที่ผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปนมาเยือนแดนมังกรไม่ขาดสายช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ไร้เงาการพบปะพูดคุยกันด้วยตนเองระหว่างผู้นำ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนกับอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2561 นอกจากนั้น อังกฤษยังอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐฯ ในการแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อปักกิ่ง

การส่งรองประธานาธิบดีหาน มาร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกยังถูกพวกสายเหยี่ยวในพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอังกฤษวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสม เนื่องจากบทบาทในอดีตของนายหาน ในการควบคุมการกวาดล้างกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงเมื่อปี 2562 และการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง


จีนส่งรองประธานาธิบดี หวัง ฉีซาน มาร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว - ภาพ : เอเอฟพี
อย่างไรก็ตาม นายไบรอัน เดวิดสัน กงสุลใหญ่ของอังกฤษประจำเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและเขตบริหารพิเศษมาเก๊าของจีนระบุว่า รัฐบาลลอนดอนหวังเริ่มบทใหม่ในความสัมพันธ์กับฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการค้าและการลงทุน หลังจากการดำเนินความสัมพันธ์เผชิญกับความยากลำบากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น เวลานี้นายเคลเวอร์ลี ก็กำลังพยายามหาทางไปเยือนจีน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากอีกฝ่าย

นายหวัง อี้เว่ย อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปศึกษา ประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษ ที่ย่ำแย่กว่าชาติตะวันตกรายใหญ่อื่นๆ จากผลกระทบของสงครามยูเครนเป็นส่วนใหญ่ นายกรัฐมนตรีซูแน็ก และรัฐบาลลอนดอน ซึ่งเคยมีจุดยืนแข็งกร้าวกับจีน จึงถูกผลักดันโดยเฉพาะจากภาคการเงินและธุรกิจ ให้แก้ไขปรับปรุงความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายในที่สุด

ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น