คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนเปิดเผยว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเผชิญภาวะแห้งแล้งฉับพลันบ่อยขึ้น และการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
ผลการศึกษาจากวารสารไซเอนส์ (Science) ระบุว่า ภาวะแห้งแล้งฉับพลัน.หรือการเริ่มแห้งแล้งอย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติยิ่งขึ้นบนพื้นที่บกส่วนใหญ่ในอนาคตที่อากาศอบอุ่นขึ้น
การเกิดภาวะแห้งแล้งโดยทั่วไปใช้เวลาหลายเดือนหรือนานกว่านั้น แต่ด้วยภาวะอุณหภูมิสูงผิดปกติควบคู่กับภาวะขาดแคลนน้ำฝนขั้นรุนแรง ส่งผลให้ความชื้นในดินลดลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงภายในไม่กี่สัปดาห์
ภาวะแห้งแล้งฉับพลันลดการกักเก็บคาร์บอนของระบบนิเวศบนบกอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น คลื่นความร้อน ไฟป่า และไฟฟ้าดับ กลายเป็นภัยคุกคามทั้งระบบนิเวศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศหนานจิง ได้ดำเนินการวิจัยโดยอ้างอิงข้อมูลเกี่ยวกับภาวะแห้งแล้งระหว่างปี 1951-2014 และพบการเกิดภาวะแห้งแล้งรวดเร็วเพิ่มขึ้นทั่วโลก บ่งชี้การเปลี่ยนผ่านทั่วโลกสู่การเกิดภาวะแห้งแล้งฉับพลันบ่อยขึ้น
หยวนซิง ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการศึกษานี้แสดงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและละอองลอย โดยการวิจัยเพิ่มเติมคาดว่าการเปลี่ยนผ่านจะขยายตัวไปยังพื้นที่บกส่วนใหญ่ของโลกในอนาคตที่อากาศอบอุ่นขึ้น