ปีนี้ถือเป็นสัปดาห์ทองวันหยุดยาว (29 เม.ย.-3 พ.ค.2566) เนื่องในวันแรงงานจีนที่ระเบิดระเบ้อ ชาวจีนเดินทางกันทะลุ 274 ล้านคน-เที่ยว สำหรับเมืองที่ชาวจีนแห่แหนไปเที่ยวกันอุ่นหนาฝาคั่งที่สุดเช่นปีที่ผ่านๆ มา คือ นครซีอัน ที่ตั้งของสุสานจักรพรรดิฉินสื่อ หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ และกองทัพทหารหุ่นดินเผาที่เป็นมรดกวัฒนธรรมของโลกอันน่าตื่นตาตื่นใจและแฝงปริศนาหลายๆ อย่าง
ปัจจุบัน ซีอันเป็นเมืองเอกในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เสมือนดาวรุ่งจรัสแสงมาตลอดกว่าสองพันปี อาจด้วยมนต์ขลังจิตวิญญาณในประวัติศาสตร์ อย่างเช่น
ซีอัน เป็นนครหลวงแห่งหนึ่งในยุคจีนโบราณ ซึ่งใช้ชื่อ ฉังอาน นับจากช่วงราวๆ สามพันปีที่แล้วในยุคราชวงศ์โจวตะวันตก หรือซีโจว ซึ่งถือเป็นยุคทองแห่งอารยธรรมจีน ได้ย้ายเมืองหลวงศูนย์กลางการปกครองมายัง เฮ่าจิง (镐京) ซึ่งก็คือ ซีอันในยุคปัจจุบัน
แถวๆ เมืองซีอัน ยังเป็นบ่อเกิดของคัมภีร์โบราณเล่มสำคัญคือ ‘หลี่ว์ซื่อชุนชิว’ มหาสารานุกรมที่รวบรวมความรู้ทุกแขนง ที่อัครมหาเสนาบดีหลี่ว์ปู้เหว่ย สั่งให้รวบรวมสมัยยุคราชวงศ์ฉิน ในประวัติศาสตร์ระบุว่า เมื่อหลี่ว์ปู้เหว่ย สั่งให้บรรดาผู้รู้ในความอุปภัมถ์รวบรวมเขียนคัมภีร์นี้เสร็จเรียบร้อยก็ให้นำไปแขวนที่ประตูเมืองเสียนหยังชานเมืองซีอัน และประกาศให้เหล่าผู้รู้มาเติมคำและตัดคำเพื่อสร้างความสมบูรณ์แก่คัมภีร์เล่มนี้ ผู้ที่มาเติม หรือตัดคำหนึ่งคำจะได้รางวัลหมื่นตำลึง จนเป็นที่มาของสำนวน ‘一字千金” ซึ่งเปรียบเปรยว่า “คำเดียวมีค่าเทียบทองพันตำลึง”
ในยุคราวงศ์ถัง กวีชื่อดังเมิ่งเจียว หลังจากที่สอบผ่านขุนนางระดับสูงสุดก็เขียนกวี “ขี่ม้ากลางสายลมฤดูใบไม้ผลิ เชยชมมวลบุปผาฉังอัน” (“春风得意马蹄疾,一日看尽长安花”)
มาถึงยุคปัจจุบัน ชาวจีนนิยมชมชอบเมืองซีอันด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ อาหารท้องถิ่น กล่าวอย่างสรุปได้ว่า เมืองซีอันประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมในการบูรณาการประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสมัยใหม่
ชมภาพบรรยายกาศ นครซีอัน ที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเที่ยวจำนวนมากที่สุดเมืองหนึ่งในจีนระหว่างสัปดาทองวันหยุดห้าวันในวันแรงงานปี 2023 (แฟ้มภาพซินหัว)