สำนักข่าวซินหัวรายงาน - สำหรับผู้ชมชาวจีนจำนวนมากแล้ว ภาพยนตร์ไทยเรื่องสุดท้ายที่ดูในโรงหนังอาจเป็นเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” เมื่อปี 2017 ที่ถึงแม้จะเป็นหนังทุนต่ำ แต่กลับกวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ หรือบ็อกซ์ออฟฟิศจีนได้ถล่มทลายถึง 271 ล้านหยวน (ราว 1.33 พันล้านบาท) ขึ้นแท่นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในจีน
และเมื่อไม่นานนี้แสงสปอตไลต์ได้สาดส่องไปยังภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่งครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-29 เม.ย.
ลี ทองคำ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยจากบริษัท ทองคำ ฟิล์มส์ จำกัด ได้เข้าร่วมงานด้วย เขากล่าวว่า หลังจากได้ร่วมงานกับผู้กำกับชาวจีน รวมถึงบริษัทภาพยนตร์และวิดีทัศน์ของจีนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย และมาร่วมงานนี้เพื่อมองหาโอกาสการร่วมมือ โดยกลุ่มผู้กำกับ นักแสดง เงินทุน และทรัพยากรอื่นๆ ที่มีคุณภาพของจีนช่วยยกระดับการผลิตผลงานร่วมกัน และเผยว่าภาพยนตร์ที่ตนผลิตร่วมกับบริษัทจีน ซึ่งเปิดตัวในไทยเมื่อปีที่แล้ว กำลังอยู่ระหว่างการโปรโมตให้เข้าถึงผู้ชมชาวจีนในฤดูร้อนนี้
นอกจากทองคำ ฟิล์มส์แล้ว ยังมีบริษัทภาพยนตร์ไทยอีก 6 รายที่มาร่วมงานนิทรรศการเป่ยจิง ฟิล์ม มาร์เก็ต (Beijing Film Market) ของเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ บูทของพวกเขาตกแต่งด้วยลายประจำยามสไตล์ไทยอันมีเอกลักษณ์โดดเด่น
ข้อมูลของกองกิจการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ต่างประเทศ (Thailand Film Office) สังกัดกรมการท่องเที่ยวของไทย ชี้ว่าในปี 2022 ทีมงานผู้ผลิตจากต่างประเทศมีโครงการผลิตภาพยนตร์และสื่อวิดีทัศน์ในไทยทั้งหมด 348 โครงการ ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.4 พันล้านบาท
ประเทศไทยกำลังกลายเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ยอดนิยม และภาพยนตร์ดังของจีนหลายเรื่องก็มาถ่ายทำในไทย เช่น แก๊งม่วนป่วนไทยแลนด์ (Lost in Thailand) และ นักสืบไชน่าทาวน์ (Detective Chinatown)
“ทีมกองถ่ายจีนนิยมมาถ่ายหนังที่ไทยกันมาก มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างเจรจาหรือเริ่มถ่ายทำในไทยแล้ว” คำกล่าวของจางเลี่ยง จากบริษัทอาร์ท้อป มีเดีย (Artop Media) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2009 และได้นำภาพยนตร์ไทยส่งออกสู่สายตาผู้ชมชาวจีนแล้วมากกว่า 100 เรื่อง รวมถึงมีส่วนร่วมผลิตผลงานภาพยนตร์จำนวนหนึ่งในประเทศไทยด้วย
จางเลี่ยง กล่าวว่า เทศกาลภาพยนตร์เช่นนี้ สร้างเวทีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานรัฐ บริษัทภาพยนตร์ และผู้ประกอบวิชาชีพในวงการภาพยนตร์ของทั้ง 2 ประเทศ พร้อมเผยว่าหลายปีมานี้ภาพยนตร์ไทยขายลิขสิทธิ์ได้ดีมากในจีน แต่ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในโรงของจีนมีไม่กี่เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อใหม่มากกว่า
ปัจจุบัน แพลตฟอร์มวิดีโอ เช่น อ้ายฉีอี้ (iQiyi) เทนเซนต์ (Tencent) และบิลิบิลิ (Bilibili) ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางหลักของชาวจีนในการชมภาพยนตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังรุกเข้าสู่ตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ของจีนจำนวนมากเผยโฉมสู่ตลาดผู้ชมชาวไทย
ขณะที่บริษัทจีนอย่างไป่หมิง กรุ๊ป (Baiming Group) ซึ่งทำธุรกิจแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ก็หวังที่จะสร้างความร่วมมือกับบริษัทผลิตภาพยนตร์และฐานการถ่ายทำภาพยนตร์ของไทยผ่านเทศกาลนี้ เพื่อโปรโมตภาพยนตร์และละครใหม่ๆ
สี่ฉงส่วง ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจของไป่หมิง กรุ๊ปกล่าวว่าแนวทางของหนังและละครทีวีไทยนั้นใกล้เคียงกับจีน ทั้งประเภทของหนัง รวมถึงการวางตัวนักแสดงก็สอดคล้องกับรสนิยมของผู้ชมชาวจีนมากกว่าหนังจากตลาดอื่น
วรรณสิริ โมรากุล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรมของไทย กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ตนได้เป็นตัวแทนเพื่อโปรโมตภาพยนตร์ไทยในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่งครั้งนี้ และรู้สึกประทับใจมากที่เห็นว่าผู้ชมชาวจีนชื่นชอบภาพยนตร์ไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง มายาพิศวง (Six Characters) ซึ่งนำแสดงโดยมาริโอ้ เมาเร่อ นักแสดงไทยผู้มีแฟนคลับชาวจีนอยู่ไม่น้อย พร้อมเผยด้วยว่าตนก็มีนักแสดงจีนที่ชื่นชอบเช่นกัน และแสดงความหวังว่าในอนาคตจะมีภาพยนตร์และละครไทยเข้าสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้น