รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งบริษัทของตนต้องขอใบอนุญาตก่อนส่งเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูงไปจีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไป แต่กลุ่มผู้ค้าเซมิคอนดักเตอร์แดนมังกรเตือนอีกฝ่ายระวังถูกตอบโต้มิใช่น้อย ด้านเยอรมนียังไม่โดดร่วมวงกับสหรัฐฯ บีบอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีน
สงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีนบานปลาย เมื่อญี่ปุ่นมีการเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรมชัดเจน ด้วยการออกคำสั่งที่ว่านี้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมการส่งออกเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูง 23 ประเภท โดย โตเกียวอิเล็กตรอน บริษัทชั้นนำด้านการสร้างเครื่องมือผลิตชิป เป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องขอใบอนุญาต
เมื่อข่าวมาตรการของญี่ปุ่นแพร่ออกไป บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของจีนต่างดิ้นรนหาซื้อเครื่องมือผลิตชิป ตลอดจนชิ้นส่วนสำรองและวัสดุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาเก็บตุนไว้อย่างกระหืดกระหอบ เนื่องจากบริษัทของจีนมากมายยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์นำเข้า
ญี่ปุ่นกำลังเต้นไปตามสหรัฐฯ หลังจากเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2565 รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศเพิ่มการคุมเข้มการส่งออกเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูงให้จีน ด้วยข้อกล่าวหาว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังตรากฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงของอเมริกา โดยในเดือน ม.ค.2566 ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ตกลงร่วมมือกับสหรัฐฯ จำกัดไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูงได้
จีนแสดงความหวังว่า รัฐบาลโตเกียวจะสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่ยุติธรรมต่อบริษัทของจีน และปกป้องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน ในการประชุมเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ของจีนกับญี่ปุ่นในเดือน ก.พ.
จากนั้นในเดือน เม.ย.จีนยังยื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์อาจขัดต่อหลักการที่ดับเบิลยูทีโอกำหนดให้การค้าในหมู่ชาติสมาชิกต้องเปิดกว้างและโปร่งใส
การเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่องของจีนเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า มาตรการกดดันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แดนมังกร
เมื่อวันศุกร์ (28 เม.ย.) สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน (ซีเอสไอเอ) และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งจีน (ซีซีพีไอที) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ค้าเซมิคอนดักเตอร์บนแดนมังกร ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านคนละฉบับ ทั้งภาคภาษาจีนและภาษาอังกฤษ มีใจความว่า การขยายข้อจำกัดในการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงของญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการเลือกปฏิบัติ แทรกแซงหลักการค้าเสรีในโลก ละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และบิดเบือนความสมดุลของอุปทานกับอุปสงค์ ทำให้อุตสาหกรรมชิปทั่วโลกตกอยู่ในความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น จึงขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นยึดมั่นต่อหลักการค้าเสรี และไม่ละเมิดมาตรการในการควบคุมการส่งออก จนก่อความเสียหายต่อความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างชาติทั้งสอง
ซีเอสไอเอระบุด้วยว่า จะพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายของสมาชิก 900 ราย และจะขอให้รัฐบาลปักกิ่งดำเนินมาตรการตอบโต้ญี่ปุ่นอย่างเฉียบขาดต่อไป นอกจากนั้น ยังเตือนอีกว่า มาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมนำมาใช้กับจีนจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นมีกำไรลดลง และผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนใหญ่หลวงคือบริษัทแดนปลาดิบเอง อีกทั้งยังส่งผลกระทบให้ต้องลดงบประมาณด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และทำลายความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นในโลกอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ทางด้านเยอรมนี ซึ่งมีจีนเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่สุดระบุว่า การส่งออกสารเคมีสำหรับใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปจีนยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ โดยสำนักงานนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ออกมายืนยัน หลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลเยอรมนีมีแผนห้ามการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปจีน
ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ / รอยเตอร์