ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย.นี้คาบเกี่ยววันหยุดยาวของชาวจีนเนื่องในวันแรงงาน (1 พ.ค.) กลุ่มสื่อจีนตีข่าว #นักท่องเที่ยวสาวจีนถูกลักพาตัวในไทย (#中国一女游客在泰国遭绑架后逃脱#) ซึ่งก็ได้กลายเป็นฮอตเสิร์ชในโซเชียลมีเดียแดนมังกร เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงไม่ทันข้ามเดือนที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญที่กลายเป็นข่าวใหญ่โจษจันทั้งในฝั่งไทยและฝั่งจีน คือ “นักศึกษาสาวจีนโดนอุ้มฆ่าโหด” โดยนักศึกษาหญิงชาวจีนวัย 22 ปี ที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถูกคนร้ายลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่เมื่อคนร้ายไม่ได้เงินก็ฆ่าเหยื่อ และโยนศพในร่องน้ำในจังหวัดนนทบุรี ตำรวจได้ไปพบศพในวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนคนร้ายชาวจีน 3 คนเผ่นหนีกลับจีน แต่ถูกตำรวจจีนตามรวบตัวจับกุมได้แล้วในไม่กี่วัน
สำหรับเหตุการณ์สาวจีนโดนอุ้มในกรณีหลังเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสงกรานต์ โดยนักท่องเที่ยวสาวจีนวัย 25 ปี ไปเที่ยวย่านแหล่งบันเทิงอาร์ซีเอในกรุงเทพฯ และโดนชายจีน 2 คนหลอกล่อไปที่อพาร์ตเมนต์แล้วบังคับให้นักท่องเที่ยวสาวโอนเงินจากมือถือ 427,500 บาท (หรือราว 86,000 หยวน) หลังจากคนร้ายได้เงินแล้วก็ขี่มอเตอร์ไซค์หลบหนีไป ส่วนคนร้ายอีกคนหนีไปกัมพูชา
เมื่อเหยื่อนักท่องที่ยวสาวแก้มัดเชือกได้ก็ไปแจ้งความตำรวจ ตำรวจเผยว่านักท่องเที่ยวสาวมีรอยตบตีที่ใบหน้า ขณะนี้ตำรวจไทยได้ออกหมายจับสีแดงคนร้ายแล้ว
เหตุการณ์สาวจีนถูกลักพาตัวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่ๆ กันนี้เป็นอีกข่าวฉาวที่กระทบภาพลักษณ์ความปลอดภัยในไทยไม่มากก็น้อยในช่วงเวลานี้ที่ไทยกำลังฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ซบเซาในช่วงโรคระบาดโควิด ขณะที่จีนซึ่งปิดประเทศภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์มา 3 ปี ได้ไฟเขียวเปิดประเทศให้ชาวจีนออกมาเที่ยวต่างแดนได้ในกลุ่มประเทศที่กำหนดนับจากช่วงเดือน ม.ค. และในเดือน ก.พ. อนุญาตให้มาเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ได้
ไทยถูกจัดอยู่ในรายชื่อประเทศปลายทางที่จีนอนุญาตให้ประชาชนเดินทางไปเที่ยวได้ และยังครองแท่นเป้าหมายปลายทางยอดนิยมในระดับต้นๆ ของชาวจีนที่กำลังกระหายออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศ
แต่ทว่านับจากจีนเปิดประเทศก็เกิดเหตุข่าวลือหึ่งดรามาว่อนไปทั่วโลกโซเชียลจีน กรณีแรกคือ “นักท่องเที่ยวจีนโดนขโมยไต” สื่อชั้นนำในจีน sixthtone.com รายงานถึงกรณีนี้ในปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า มันเป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดที่บล็อกเกอร์จีนที่ใช้ชื่อ ซินอีหลินหลิน (Xin Yi Lin Lin) ได้ปล่อยออกมา โดยเผยแพร่คลิปในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดังคือ โต่วอิน (Douyin) และบิลิบิลิ (Bilibili) มีเนื้อหาเตือนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยเกี่ยวกับภัยอันตรายจากแก๊งขโมยไต แก๊งขโมยไตนี้โยกย้ายถิ่นจากกัมพูชา พม่า มีศูนย์กลางหรือฉากบังหน้าคือแหล่งบันเทิงใจกลางกรุงเทพฯ คือ Garage 76 ที่กลายเป็นแหล่งบันเทิงดังระเบิดระเบ้อในโซเชียลจีน ชาวเน็ตจีนเรียก “Garage 76” กันว่า “ห้องอาหารนายแบบ” เพราะระดมหนุ่มๆ หน้าตาหล่อมาบริการลูกค้าโดยเฉพาะสาวๆ ทั้งมีการจัดเกมการละเล่นสนุกสนานกันสุดเหวี่ยง ดึงดูดสาวๆ จำนวนมากในแดนมังกรแห่กันมาเที่ยวร้านอาหารนี้ ที่นายซินอีหลินหลิน อ้างว่ามันเป็นฉากบังหน้าล่อลวงสาวๆ ไปขายตัว หรือส่งให้แก๊งขโมยไต
ต่อมาในต้น เม.ย. เกิดเหตุสะเทือนขวัญที่เป็นข่าวพาดหัวในไทยและจีน คือเหตุการณ์ “อุ้มฆ่าโหดนักศึกษาสาวจีน” ตามติดด้วย “อุ้มนักท่องเที่ยวสาวจีน” ดังที่กล่าวในข้างต้น
ไทยยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของจีน
จากรายงานข่าวสำนักข่าวซินหวา ระบุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาเที่ยวไทยมีจำนวนมากขึ้นเป็นอัตราเพิ่มเกือบร้อยละ 50 และในช่วงวันหยุดยาวของวันแรงงาน 1 พ.ค.ปีนี้ นอกจากกระแสท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเลือกมาเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีไทยเป็นเป้าหมายปลายทางอันดับต้นๆ
จากการวิเคราะห์ของหน่วยวิจัยรายหนึ่งในจีนระบุว่า จำนวนชาวจีนที่มาเที่ยวไทยไม่ตกลงและยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะอิทธิพลชื่อเสียงของเทศกาลไทย การกลับมาแบบจัดเต็มของเทศกาลสงกรานต์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสประสบการณ์สาดน้ำที่สนุกสนานสุดปัง อีกด้านหนึ่งเพราะปัจจัยค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวไทยลดลงแล้วด้วย
บริษัทผู้บริการการเดินทางออนไลน์ระหว่างประเทศในจีน Ctrip.com รวบรวมสถิติถึงวันที่ 13 เม.ย. ระบุว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวในจีนที่จองโปรแกรมเที่ยวสงกรานต์ไทย (10-16 เม.ย.) เทียบกับเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 ในจำนวนนี้แบ่งเป็นยอดจองตั๋วที่สูงขึ้นร้อยละ 47 และยอดจองโรงแรมที่สูงขึ้นร้อยละ 61
นอกจากนี้ ในช่วงเกือบครึ่งเดือนมานี้กระแสนักท่องเที่ยวจีนที่อยากมาเที่ยวไทยยังมาแรง โดยยอดจองโปรแกรมเที่ยวไทยของชาวจีนในช่วงเกือบครึ่งเดือนเทียบกับช่วงครึ่งเดือนก่อนหน้านี้คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 12 ในจำนวนนี้แบ่งเป็นยอดจองโรงแรมเพิ่มร้อยละ 12 ยอดจองตั๋วเครื่องบินเพิ่มร้อยละ 47 และยอดจองโรงแรมเพิ่มร้อยละ 28
จากข้อมูลสถิติยังแจงอีกว่าในช่วงเกือบครึ่งเดือนมานี้ กลุ่มชาวจีนที่มาเที่ยวไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหนุ่มสาวกว่าร้อยละ 80 เป็นกลุ่มคนที่เกิดหลังปี 1980 และ 1990 และนักท่องเที่ยวหญิงมีสัดส่วนถึงร้อยละ 54
สำหรับสถานการณ์ราคาตั๋วเครื่องบิน เกือบครึ่งเดือนมานี้ตั๋วเครื่องบินเดินทางจากจีนมาไทยเท่ากับ 1,443 หยวนโดยเฉลี่ย ลดลงจากช่วงครึ่งเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 15
ข้อมูลของ Ctrip.com ยังระบุแนวโน้มการท่องเที่ยวในวันหยุดแรงงานของชาวจีนปีนี้ ว่าเป้าหมายปลายทางแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต 10 อันดับแรก ได้แก่ ไทย ฮ่องกงของจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ มาเก๊าของจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
สรุปแล้ว ไทยยังเป็น “สวรรค์การท่องเที่ยวของชาวจีน” ทว่า การรักษาฉายา “สวรรค์การท่องเที่ยวของชาวจีน” นี้ ดูกำลังเผชิญการท้าทายจากกระแสข่าวที่กระทบความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในไทย