สำนักข่าวซินหัว, 23 เม.ย. - คณะนักวิจัยของจีนได้เผยแพร่เนื้อหาการแพทย์ดั้งเดิมที่หายสาบสูญไปเป็นเวลานาน ซึ่งเชื่อว่าเขียนโดยเปี่ยนเช่ว์ (扁鹊)ผู้บุกเบิกการแพทย์ยุคจีนโบราณ โดยถอดรหัสจากซีกไผ่ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี
จากการแถลงของสำนักงานข่าวสารข้อมูลประจำมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ระบุ ซีกไผ่จากราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 25) ถูกขุดพบจากกลุ่มหลุมศพในตำบลเทียนหุย นครเฉิงตู เมืองเอกของซื่อชวน เมื่อปี 2012 โดยการศึกษาเพิ่มเติมชี้ว่าซีกไผ่ดังกล่าวบันทึกวรรณกรรมทางการแพทย์อันล้ำค่าของโรงเรียนที่เปี่ยนเช่ว์เคยเป็นลูกศิษย์
ช่วงยุควสันตสารท หรือยุคชุนชิว และยุครณรัฐ หรือยุคจ้านกั๋ว (770-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เปี่ยนเช่ว์ได้หยิบยกประสบการณ์และองค์ความรู้จากบรรพบุรุษ และนำเสนอวิธีวินิจฉัย 4 วิธี ได้แก่ ตรวจสอบ ฟัง-ดมกลิ่น สอบถาม และกดคลำ ซึ่งวางรากฐานสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์แผนจีน (TCM)
ซีกไผ่ดังกล่าวเสียหายและอ่อนตัวเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวเนื่องจากจมน้ำอยู่นานกว่า 2,000 ปี ส่งผลให้การฟื้นฟูและวิจัยยากลำบากขึ้นหลายเท่า ทว่าท้ายที่สุดคณะนักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนจีน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญการปกป้องและบูรณะโบราณวัตถุ สามารถบูรณะซีกไผ่ 930 แผ่น ที่มีตัวอักษรจีนอยู่กว่า 20,000 ตัว หลังจากทุ่มเทความพยายามนานนับ 10 ปี
อนึ่ง มีการคาดการณ์ว่าซีกไผ่ข้างต้นเป็นชุดเอกสารการแพทย์โบราณที่มอบรายละเอียดเนื้อหาครบครันที่สุด ระบบทฤษฎีที่สมบูรณ์ที่สุด และมีคุณค่าทางทฤษฎีและทางคลินิกมากที่สุดของจีน
เอกสารเหล่านี้ถูกรวบรวมเป็นชุดตำราการแพทย์ “ซีกไผ่ตำราการแพทย์เทียนหุย” จำนวน 8 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัตถุทั้งหมด รวมถึงรูปภาพซีกไผ่ บันทึกคำอธิบายจากฝ่ายบรรณาธิการ และภาพประกอบหุ่นจำลองจุดฝังเข็มตามแนวเส้นลมปราณตามแนวทางแพทย์แผนจีนที่พบด้านในซีกไผ่
ซีกไผ่และหุ่นจำลองจุดฝังเข็มเป็นหลักฐานแหล่งที่มาทางวิชาการเกี่ยวกับการฝังเข็มและการรมยาของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกที่จับต้องไม่ได้ระดับโลกของจีนในด้านการแพทย์โบราณ
หลิวฉางหัว หัวหน้าบรรณาธิการชุดหนังสือข้างต้น กล่าวว่า ใบสั่งยาจำนวนมากที่บันทึกไว้ในซีกไผ่ยังคงมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับการรักษาโรคทั่วไปในยุคสมัยนี้ เราหวังพัฒนานวัตกรรมทางทฤษฎีการแพทย์แผนจีน ปรับปรุงประสิทธิภาพทางคลินิกของการแพทย์แผนจีน และทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นหันมาเรียนรู้วัฒนธรรมการแพทย์แผนจีนผ่านการศึกษาซีกไผ่นี้อย่างเป็นระบบ