xs
xsm
sm
md
lg

ทางรถไฟจีน-ลาวหนุนส่งออก ‘ทุเรียนไทย’ ป้อนตลาดจีนรวดเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานคัดแยกทุเรียนที่โรงงานแปรรูปทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี วันที่ 5 พ.ค. 2022)
สำนักข่าวซินหัว, แหลมฉบัง/คุนหมิง, 20 เม.ย. - เมื่อวันพุธ (19 เม.ย.) ขบวน “รถไฟผลไม้” บรรทุกทุเรียนและมังคุดของไทย จำนวน 23 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้เดินทางถึงนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

รถไฟขบวนนี้มีต้นทางจากแหลมฉบัง ท่าเรือแห่งสำคัญของไทย และวิ่งถึงจุดหมายปลายทางในจีนโดยผ่าน “ทางรถไฟจีน-ลาว” ซึ่งปัจจุบันกำลังกลายเป็น “ทางด่วน” ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว

อรทัย เอื้อตระกูล วัย 67 ปี อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า เมื่อก่อนทุเรียนส่วนใหญ่ถูกส่งออกสู่จีนทางถนนและทางทะเล ซึ่งเป็นเส้นทางที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เพราะหลายปัจจัยอย่างสภาพอากาศเลวร้าย ทำให้บางครั้งใช้เวลาขนส่งนานกว่า 20 วัน

(แฟ้มภาพซินหัว : “รถไฟผลไม้” บรรทุกทุเรียนและมังคุด ที่สถานีรถไฟแหลมฉบังของไทย วันที่ 16 เม.ย. 2023)
ทว่า ปัจจุบันทุเรียนไทยถูกขนส่งถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ด้วยอานิสงส์จากการขนส่งแบบห่วงโซ่ความเย็นบนทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งอรทัย แสดงความหวังว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้ลิ้มรสทุเรียนสดใหม่และสุกอร่อยเหมือนกับชาวไทยเพิ่มขึ้น

ด้าน นที ชวนสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวว่า ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญที่สุดของไทย และหวังว่าผู้บริโภคชาวจีนจะได้ชิมทุเรียนรสชาติดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยขยับขยายตลาดทุเรียนไทย

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทยระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกของทุเรียนไทยขนาดใหญ่สุดในปี 2022 ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 96 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3.09 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.06 แสนล้านบาท)

บริษัท ไทยแลนด์ รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด (Thailand Royal Farm Group) ได้ดำเนินธุรกิจส่งออกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นเวลานานมากกว่า 16 ปีแล้ว

วีริศา วนนุรักศ์สกุล ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่าความต้องการจากตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาขายส่งทุเรียนพุ่งสูงไม่หยุด และรายได้จากงานบรรจุหีบห่อแบบจ้างงานชั่วคราวในช่วงฤดูส่งออกกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนท้องถิ่นจำนวนมาก

(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานโชว์เนื้อทุเรียนในกรุงเทพฯ วันที่ 1 มิ.ย. 2022)
ทั้งนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว ได้เปิดเส้นทางใหม่สำหรับการส่งออกทุเรียนไทย และบรรเทาปัญหากำลังการขนส่งไม่เพียงพอที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ รวมถึงการขนส่งทางถนนและทางทะเลที่ไม่มีความแน่นอน

กนกวรรณ สุวรรณกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ได้ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของไทย โดยปริมาณการขนส่งสินค้าจากไทยสู่ลาวเพิ่มขึ้นจาก 500-600 ทีอียู (TEU : หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ในปี 2019 เป็น 2,000 ทีอียูในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,000 ทีอียูในปี 2023

บริษัท สปีด อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจส่งออกและขนส่งผลไม้มากกว่า 20 ปี ได้ตัดสินใจพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางอย่างจริงจัง หลังจากทดลองดำเนินงานมากว่า 1 ปี

พานเจียวหลิง ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่ามีการซื้อตู้คอนเทนเนอร์แบบห่วงโซ่ความเย็นสำหรับขนส่งสินค้าพร้อมติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) ในปีนี้ ซึ่งช่วยระบุตำแหน่งและเฝ้าติดตามอุณหภูมิแบบเรียลไทม์จากระยะไกล รวมถึงส่งข้อมูลโลจิสติกส์ให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

การขนส่งทางรางที่รวดเร็วและตรงเวลา ไม่เพียงรับประกันคุณภาพของทุเรียน แต่ยังลดต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทฯ อีกด้วย

(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานขนถ่ายกล่องผลไม้ที่ขนส่งจากไทยผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ในนครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 19 เม.ย. 2023)
ส่วนฟ่านลี่กัง เจ้าของบริษัท กว่างโจว ฟ่านกั่วตัว เทรดดิง จำกัด (Guangzhou Fanguoduo Trading) ผู้สั่งซื้อทุเรียนที่จัดส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว เผยว่าบริษัทฯ วางแผนขยายตลาดทางตะวันตกของจีน เช่น เฉิงตู และกุ้ยโจว

นอกจากนั้น การขนส่งสินค้าทางรางสามารถรวบรวมสินค้าเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างยืดหยุ่น ทำให้เหมาะสมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งไทยและจีน

เฉินปิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายของบริษัท กว่างซี เซียนหนง อินเตอร์เนชันแนล เทรด จำกัด (Guangxi Xiannong International Trade) กล่าวว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของบริษัทฯ ได้ปรับใช้ระบบเปิดจองล่วงหน้า และจำนวนคำสั่งซื้อเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการขนส่งสินค้าทางรางช่วยให้จัดส่งสินค้าได้ทันเวลาตามคำสั่งซื้อจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น