xs
xsm
sm
md
lg

บริการขนส่งผู้โดยสาร ‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ หนุนธุรกิจ ‘หนองคาย’ คึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว : ชาวบ้านฉลองเทศกาลสงกรานต์ในจังหวัดหนองคาย วันที่ 13 เม.ย. 2023)
สำนักข่าวซินหัวรายงานหนองคาย, 17 เม.ย. - จังหวัดหนองคายของไทยได้ร่วมแบ่งปันความสุขช่วงเทศกาลสงกรานต์กับเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงอย่างลาว นับตั้งแต่ทางรถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนเมื่อวันพฤหัสบดี (13 เม.ย.) อันเป็นวันเทศกาลที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับไทยและลาว

จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล ที่ปรึกษาสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากในภาคการท่องเที่ยวท้องถิ่นเริ่มได้รับการสอบถามจากนักท่องเที่ยวชาวไทยเกี่ยวกับบริการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนของทางรถไฟจีน-ลาว

(แฟ้มภาพซินหัว : จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล (ขวา) ที่ปรึกษาสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย ณ โรงแรมที่เธอเป็นผู้บริหารในจังหวัดหนองคาย วันที่ 14 เม.ย. 2023)
ความสนใจใคร่รู้นี้ไม่ได้สร้างความแปลกใจแก่จิรนันท์ ผู้บริหารโรงแรมในหนองคาย เนื่องจากเธอพบเห็นนักท่องเที่ยวชาวไทยหลั่งไหลข้ามพรมแดนช่วงวันหยุดเพื่อสัมผัสประสบการณ์ทางรถไฟจีน-ลาว นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2021

“ชาวไทยจะเดินทางมาหนองคายเพื่อสอบถามวิธีขึ้นรถไฟจีน-ลาว บางครั้งเรามีลูกค้าเยอะเกินกว่าจะให้บริการได้” จิรนันท์ระบุ

นักท่องเที่ยวจำนวนมากจะพักค้างคืนในหนองคายก่อนเดินทางไปนครหลวงเวียงจันทน์ของลาวที่อยู่ห่างราว 20 กิโลเมตร โดยแผนการเดินทางนี้ช่วยกระตุ้นธุรกิจโรงแรมของจิรนันท์ และภาคการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่ต้องการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

มนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย แสดงความหวังว่านักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาลาวจะเดินทางมาท่องเที่ยวต่อในหนองคาย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยหนองคายกำลังเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงจัดเตรียมการขนส่งและพนักงานที่พูดภาษาจีนเพิ่มขึ้น

(แฟ้มภาพซินหัว : ถนนริมแม่น้ำโขงในจังหวัดหนองคาย วันที่ 12 เม.ย. 2023)
ภาคธุรกิจในหนองคายได้รับประโยชน์จากทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มการจ้างงานและนำพาโอกาสใหม่ๆ มาสู่ชุมชนธุรกิจท้องถิ่น โดยมนนิภา พบการลงทุนในหนองคายเพิ่มขึ้น และรัฐบาลไทยพยายามยกระดับโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ทางรถไฟจีน-ลาวยังเป็นเส้นทางขนส่งอีกสายของไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอันกว้างใหญ่ด้วย

วิทวัส ปลื้มรัมย์ ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 เผยว่า การขนส่งสินค้าระหว่างจีน ลาว และไทยในอดีตต้องใช้เวลานานกว่าปัจจุบันเพราะสภาพถนนย่ำแย่ แต่ทางรถไฟจีน-ลาว ได้ลดระยะเวลาเหลือราว 10 ชั่วโมง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งสินค้าจำพวกผลไม้ที่ต้องอาศัยการจัดส่งอันรวดเร็ว

สำหรับจิรนันท์ ทางรถไฟจีน-ลาว ยังเป็นเส้นทางมิตรภาพที่เชื่อมไทย จีน และลาว แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่เพิ่มขึ้น

“การแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจ ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น” จิรนันท์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น