xs
xsm
sm
md
lg

วงการเทนนิสจีนบูมเกินห้ามใจ WTA ยกเลิกคว่ำบาตรกรณี "เผิง ไซว่"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ : VCG
สมาคมนักเทนนิสหญิงอาชีพ (ดับเบิ้ลยูทีเอ) ถูกนักสิทธิมนุษยชนสวดยับที่ประกาศหวนกลับไปจัดการแข่งขันบนแดนมังกรอีกครั้ง แม้ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากทางการจีนในเรื่องความปลอดภัยของ “เผิง ไซว่” ก็ตาม

“เผิง” อดีตนักเทนนิสหญิงมือหนึ่งของโลกในการแข่งขันประเภทคู่ เป็นข่าวครึกโครมช่วงปลายปี 2564 เมื่อเธอแฉในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ถูกอดีตรองนายกรัฐมนตรี “จาง เกาลี่” ของจีน บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ แต่ต่อมา “เผิง” ได้ลบโพสต์ และนับจากนั้น ก็ไม่ปรากฏหน้าค่าตาในต่างประเทศอีกเลย จนสงสัยกันว่า “เผิง” อาจถูกทางการจีนสั่งให้ปิดปากเงียบ ดับเบิ้ลยูทีเอจึงลั่นวาจาว่า หากทางการจีนยังไม่มีการสอบสวนข้อกล่าวหาของ “เผิง” ให้กระจ่าง และยังไม่ได้พบกับ “เผิง” เป็นการส่วนตัวแล้ว ดับเบิ้ลยูทีเอจะไม่จัดการแข่งขันในจีนอย่างเด็ดขาด

การประกาศคว่ำบาตรผ่านมานานกว่าหนึ่งปี จนกระทั่งเมื่อวันพฤหัสฯ (13 เม.ย.) ดับเบิ้ลยูทีเอก็กลืนน้ำลายตัวเอง โดยยอมรับว่า สมาคมไม่มีทางทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ทั้งหมด และสุดท้ายแล้วผู้ที่ต้องเสียสละและได้รับความเสียหายก็คือนักกีฬา และผู้จัดการแข่งขัน

การกลับลำครั้งนี้ถูกหลายฝ่ายมองว่า เป็นการยอมแพ้ บางคนตั้งคำถามว่า ทางสมาคมคว่ำบาตรอย่างจริงใจหรือไม่

กลุ่มฮิวแมนไรตส์วอตช์ ระบุว่า เป็นความผิดหวังครั้งใหญ่สำหรับชุมชนสิทธิมนุษยชนชาวจีน แต่ก็ไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะเรื่องนี้มีเงินและธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

แอน เขียวธวงศ์ อดีตนักเทนนิสหญิงชาวอังกฤษพูดอย่างไม่เกรงใจว่า เทนนิสเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จีนกลายเป็นแหล่งรายได้มหาศาลสำหรับดับเบิ้ลยูทีเอ โดยในปี 2561 สมาคมได้ทำสัญญา 10 ปี ย้ายการแข่งขัน “ดับเบิ้ลยูทีเอไฟนอลส์” การแข่งขันเทนนิสรายการสุดท้ายของปี มาจัดที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยเพิ่มเงินรางวัลทั้งหมดสำหรับผู้แข่งขัน 8 คนสุดท้าย จากเดิม 7 ล้านดอลลาร์ เป็น 14 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญในตลาดจีน ซึ่งกีฬาเทนนิสกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น แต่การยกเลิกจัดการแข่งขันในช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้สมาคมสูญเงินไปไม่น้อย

เงินรางวัลทั้งหมดสำหรับการแข่งขันดับเบิ้ลยูทีเอไฟนอลส์กัวดาลาฮาร่า 2021 และดับเบิ้ลยูทีเอไฟนอลส์ฟอร์ตเวิร์ท 2022 เหลือแค่ 5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสมาคมควักกระเป๋าจ่ายเอง

เผิง ไซว่ กำลังฝึกซ้อมที่ออสเตรเลียนโอเพน ในเมลเบิร์น พาร์ก ประเทศออสเตรเลีย ภาพเมื่อเดือน ม.ค.2562 - แฟ้มภาพรอยเตอร์
ในขณะที่สมาคมนักเทนนิสอาชีพชาย (เอทีพี) ไม่ร่วมการคว่ำบาตร และกำหนดจัดการแข่งขัน 4 รายการในจีนปีนี้ นายมาร์ก เดรเยอร์ นักวิเคราะห์กีฬาในจีนมองว่า เอทีพี ไม่อยากจมอยู่กับเรื่องนี้ เพราะไม่อยากสูญเสียเงินที่ได้จากจีน

ดับเบิ้ลยูทีเอยืนยันว่า นักเทนนิสส่วนใหญ่สนับสนุนให้กลับไปจัดการแข่งขันที่จีน "แคโรไลน์ การ์เซีย" นักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 5 ของโลกระบุว่า การกลับไปจัดที่จีนมีความสำคัญอย่างมาก

เงินทองและผลประโยชน์ที่ไหลมาเทมาในวงการแข่งขันเทนนิสได้รับการต้อนรับจากนักกีฬา “มาเรีย ชาราโปวา” นักเทนนิสชาวรัสเซีย เคยกล่าวในตอนที่มีการประกาศข้อตกลงที่เซี่ยงไฮ้ว่า เป็นการไปชิงแชมป์ยังสถานที่ซึ่งยินดีลงทุนให้วงการเทนนิสหญิง

หลังจาก “หลี่ น่า” นักเทนนิสหญิงชาวจีนคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 2011 คนแรกของประเทศ ศักยภาพของตลาดจีนยิ่งชัดเจนและกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการวางแผนสร้างการเติบโตในอนาคตของทางสมาคม

จากข้อมูลของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ จีนมีสนามเทนนิส 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศและนักกีฬาเทนนิส 20 ล้านคนในปี 2564 จำนวนนักเทนนิสเป็นรองก็แต่สหรัฐฯ เท่านั้น


นายเดรเยอร์ ระบุว่า มีนักเทนนิสหญิงจีน 5 คนติดใน 60 อันดับแรกของโลก ซึ่งนับว่ามากจริงๆ และมี 1 หรือ 2 คน ที่มีศักยภาพคว้าแชมป์แกรนด์สแลมในอนาคตได้อีกด้วย


สนามเทนนิสในเซี่ยงไฮ้ดูคึกคักท่ามกลางข่าวการกลับมาของดับเบิ้ลยูทีเอ นักเทนนิสสมัครเล่นผู้หนึ่งระบุว่า จีนมีนักเทนนิสมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเทนนิสหญิง ดังนั้น ก็ย่อมมีคนต้องการชมการแข่งขันมากขึ้นด้วยเช่นกัน


ข้อมูลจาก “WTA return shows China key to women's tennis on and off court” ในเอเอฟพี



กำลังโหลดความคิดเห็น