คณะนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ที่พบในร้านอาหารแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นของไดโนเสาร์คอยาวที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน
การค้นพบสุดแปลกนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วโดยลูกค้าร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง ก่อนจะกลายเป็นไวรัลทั่วโลกเนื่องจากเป็นการพบรอยเท้าในสถานที่ที่แปลกไปจากเดิม ปัจจุบัน ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติได้เผยแพร่การค้นพบนี้ในวารสารครีเทเชียส รีเสิร์ช (Cretaceous Research) ฉบับล่าสุด หลังจากพวกเขาใช้เครื่องสแกนสามมิติเพื่อวิเคราะห์ “รอยเท้าที่พบในร้านอาหาร” เหล่านี้
นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ากลุ่มรอยเท้า ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 50-60 เซนติเมตรเหล่านี้ อาจเป็นของไดโนเสาร์ซอโรพอดที่มีความยาว 8-10 เมตร จำนวนหนึ่ง
ซอโรพอดมีหัวเล็ก คอยาว หางยาว และถูกกล่าวขานว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยอาศัยอยู่บนบกเท่าที่มีข้อมูลจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตขนาดมหึมานี้มีย่างก้าวที่สั้นมาก พวกมันเดินทางได้ไกล 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
วันที่ 10 ก.ค. 2022 โอวหงเทา ลูกค้าร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเล่อซานของมณฑลเสฉวน สังเกตเห็นรอยยุบที่แปลกตาบนพื้นของร้าน ด้วยความที่เขาสนใจศึกษาความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยา จึงสันนิษฐานว่ารอยดังกล่าวน่าจะเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ ก่อนจะติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงอย่างรองศาสตราจารย์สิงลี่ต๋า จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (China University of Geosciences) ให้มาตรวจสอบ
6 วันถัดมา รองศาสตราจารย์สิงได้นำทีมนักวิจัยเข้าตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากองค์พระใหญ่เล่อซาน พระพุทธรูปหินสลักที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจีน ไปเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น
สิงลี่ต๋าซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของงานวิจัยนี้กล่าวว่า ‘รอยยุบ’ เหล่านี้ถูกพบในปี 1950 แต่ในเวลานั้นเจ้าของบ้านได้ปิดมันเอาไว้เพื่อทำให้พื้นเรียบ ก่อนที่เจ้าของคนใหม่ได้ปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นห้องอาหารเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้รอยเหล่านี้เผยขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งปี 2022 ที่ลูกค้ารายดังกล่ล่าวสังเกตเห็นและคาดว่ารอยยุบเหล่านี้อาจเป็นมากกว่ารอยบุ๋มทั่วๆ ไป
แอนโธนี โรมิลิโอ (Anthony Romilio) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยนานาชาติกล่าวว่า “รอยเท้าเหล่านี้ไม่มีใครสังเกตเห็นเป็นเวลานานแล้ว แต่เมื่อคุณรู้แล้วว่ามันคืออะไร มันก็ยากที่จะมองผ่านไปได้” พร้อมเสริมว่า เนื่องจากภูมิภาคนี้ไม่มีบันทึกการค้นพบโครงกระดูกของไดโนเสาร์ ดังนั้นร่องรอยฟอสซิลเหล่านี้จึงให้ข้อมูลล้ำค่าเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินอยู่ในพื้นที่นี้
นักวิจัยชาวออสเตรเลียท่านนี้ ยังย้ำถึงความสำคัญของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อันทรงคุณค่าในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ผ่านการประชาสัมพันธ์ของสื่อ “สำหรับผู้โชคดีบางคนแล้ว การค้นพบอาจเกิดขึ้นในสถานที่ที่คาดไม่ถึง หรือแม้แต่ในขณะที่คุณกำลังมองหาของกินอยู่” เขาทิ้งท้าย
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว