ยามนี้ชาวไทยที่สัญจรไปตามสถานที่สาธารณะบรท้องถนน ไปถึงร้านค้าต่างๆ แทบจะทุกหัวระแหงของกรุงเทพฯ คงได้ยินเสียงพูดคุยภาษาจีนหรือภาษาไทยสำเนียงที่น่าจะเป็นชาวจีนสนทนากัน นอกจากกลุ่มนักท่องที่ยวจีนที่มาเที่ยวจำนวนมากแล้ว ยังมีชาวจีนที่มาอาศัยในประเทศไทยด้วยเป้าหมายต่างๆ มาศึกษา มาทำงาน ลงทุนเปิดกิจการ และอื่นๆ ซึ่งปรากฏให้เห็นหนาตาในปัจจุบันโดยเฉพาะในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่
ผู้เขียนได้ไปร่วมฟังการสัมมนา หัวข้อเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย จัดโดยศูนย์จีนศึกษาและหน่วยปฏิบัติการวิจัยจีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นในวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยการสัมมนานี้เป็นการรายงานผลการวิจัยของทีมงานวิจัยที่ได้ลงพื้นที่ต่างๆ ทุกภาคของประเทศไทยเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มชาวจีนรุ่นใหม่ที่โยกย้ายถิ่นมาอาศัยในไทย
สำหรับรายงานชิ้นนี้ ขอหยิบยกเฉพาะชาวจีนที่โยกย้ายถิ่นมาอาศัยในกรุงเทพฯ พอเป็นตัวแทนสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ชาวจีนอพยพใหม่ในไทย และทุนจีนที่หลั่งไหลเข้ามาส่งผลกระทบต่อชาวไทยบางด้านไม่มากก็น้อย โดยเนื้อหาที่หยิบยกมาเขียนนำเสนอนี้เรียบเรียงจากการบรรยายของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมวิจัยในส่วน “ชาวจีนอพยพใหม่ในภาคกลางและภาคตะวันออก”
ชาวจีนอพยพใหม่เริ่มหลั่งไหลมาประเทศไทยเมื่อไหร่?
ชาวจีนอพยพใหม่เริ่มอพยพมาไทย และประเทศอื่นๆ หลังจากที่จีนเปิดประเทศในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ได้ไม่นาน หลังจากนั้นอพยพออกมาไม่ขาดสาย ชาวจีนอพยพใหม่เหล่านี้อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
1.อพยพหลังจีนเปิดประเทศไม่นานไปจนสิ้นทศวรรษที่ 1980 กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เมื่อไปถึงประเทศใดมักประกอบอาชีพเป็นแรงงานเข้มข้น ทำงานหนักเช่นเดียวกับชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต
2.อพยพจากจีนตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ชาวจีนที่อพยพมามีทั้งกลุ่มฐานะดีและไม่ดี มีทั้งกลุ่มที่เข้ามาเป็นแรงงานเข้มข้นและแรงงานทักษะ
3.เป็นกลุ่มที่อพยพจากจีนช่วงทศวรรษ 2000 จนถึงปัจจุบัน ช่วงนี้เป็นหลักหมายสำคัญของจีนคือ จีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ในปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) สำหรับชาวจีนที่อพยพออกมาช่วงนี้มีฐานะดี มีการศึกษาสูง กลุ่มนี้เข้ามาเพื่อทำงานหรือลงทุนกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ เช่น พนักงานประจำบริษัทจีนในไทย เจ้าของร้านอาหารหรือร้านเครื่องดื่ม เจ้าของโรงแรมหรือที่พักขนาดเล็ก ผู้ประกอบการรายย่อย ครูหรืออาจารย์สอนภาษาจีนในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย
เป้าหมายการย้ายถิ่นของชาวจีนอพยพใหม่?
เป้าหมายของชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานกลุ่มใหม่นี้ บางคนเข้ามาเพื่อการศึกษา อย่างเช่น การเรียนในมหาวิทยาลัย บางคนเข้ามาเพื่อหาโอกาสทำงานยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม บางคนเข้ามาลงทุนธุรกิจและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยของไทย นอกจากนี้ ยังมีบางคนเข้ามาในฐานะผู้ลี้ภัยหรือผู้ขอลี้ภัย
ที่สำคัญคือชาวจีนอพยพใหม่ไม่ได้คิดมาตั้งรกรากหรือย้ายมาอาศัยอยู่อย่างถาวร ซึ่งเป็นความแตกต่างสำคัญกับกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต โดยทั่วไปแล้วชาวจีนอพยพใหม่มาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ต้องการเท่านั้น อย่างเช่น หาเงิน หางาน และสุดท้ายพวกเขาก็ต้องการกลับประเทศ
คนจีนอพยพใหม่ในไทยประกอบอาชีพอะไรกันบ้าง?
อาชีพของชาวจีนอพยพใหม่ในไทย แบ่งได้เป็น 7 ภาค คือ
1.อาชีพพ่อค้า นักธุรกิจ ค้าขาย เช่น ทำร้านกิฟต์ชอป ร้านดอกไม้ ร้านขายอุปกรณ์มือถือและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
2.อาชีพแรงงานตามสถานประกอบการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม บาร์ธุรกิจ และแหล่งบันเทิงของชาวจีน
3.อาชีพครูอาจารย์ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสมาคมจีนต่างๆ
4.อาชีพมัคคุเทศก์ ตามบริษัททัวร์
5.อาชีพตัวแทน นายหน้า ขายอสังหาริมทรัพย์ บ้าน คอนโดมิเนียม
6.อาชีพขายของออนไลน์
7.อาชีพช่างเทคนิคตามโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก
แหล่งชุมชนจีนอพยพใหม่ในกรุงเทพฯ และกระแส ‘ทุนจีน’ ที่เข้ามาใหม่ ส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างไร?
ในประเด็นนี้ขอยกตัวอย่างแหล่งชุมชนและย่านที่ทุนจีนหลั่งไหลเข้ามาแบบมาแรง ดังนี้
ห้วยขวาง
เมื่อพูดถึงชาวจีนโพ้นทะเล คนไทยจะนึกถึงเยาวราช ถ้าพูดถึงชาวจีนอพยพใหม่ก็จะนึกถึงเขตห้วยขวาง ซึ่งเรียกขานกันเป็น “ไชน่าทาวน์ใหม่” ของกรุงเทพฯ จากการสำรวจและสัมภาษณ์ มีกรณีกลุ่มชาวจีนที่มาเที่ยว มาพบทำเลที่ดึงดูดใจเห็นช่องทางค้าขายก็มาเช่าตึกเปิดร้านค้าขาย เช่น ร้านอาหาร จนส่งผลให้ค่าเช่าบ้านในย่านห้วยขวางจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ขึ้นสูงมากถึงหลักแสนบาท ถ้าเป็นคนไทยมาเช่าขายของก็สู้ค่าเช่าสูงขนาดนี้ไม่ไหว และยังพบลักษณะพิเศษ เช่น มีร้านกิฟต์ชอปเปิดร้ายขายของแค่ครึ่งวันไม่กี่ชั่วโมงก็ปิดร้านแล้ว ซึ่งน่าสงสัยว่าพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้จะสามารถหาเงินได้พอจ่ายค่าเช่าไหม นี่เป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ชาวจีนที่มาอยู่แถวห้วยขวางมีลักษณะพิเศษคือไม่คิดอยู่ถาวร อย่างเช่น ช่วงโควิดระบาด ชาวจีนหายกันไปหมด พอหมดช่วงการระบาดของโควิด ย่านห้วยขวางก็กลับมาคึกคัก ร้านอาหารท้องถิ่นจีนทุกพื้นถิ่นกลับมาเปิดขายกันพรึ่บ ที่สำคัญย่านห้วยขวางตอนนี้กลายเป็นที่จอดรถทำเลทอง รถที่เข้าออกในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นรถหรูระดับเดมเลอร์ เบนซ์ เป็นต้น
เยาวราช สำเพ็ง
เยาวราช สำเพ็ง เป็นไชน่าทาวน์เก่าแก่ เป็นแหล่งของชาวจีนโพ้นทะเลยุคเก่า ในปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์ชาวจีนอพยพใหม่เข้ามาลงทุนทำซูเปอร์มาร์เกต และยังมีร้านค้าเล็กๆ ขายกิจการให้ชาวจีนอพยพใหม่บ้าง เนื่องจากค่าเช่าร้านในเยาวราชแพงขึ้นหลายเท่าตัว อย่างเช่นค่าเช่าห้องแถวหนึ่งคูหาแพงขึ้นจากประมาณ 7 หมื่น เป็น 3 แสน ถึง 5 แสน จึงเป็นช่องทางให้กลุ่มคนจีนที่ย้ายถิ่นเข้ามาใหม่ ซึ่งมีข้อได้เปรียบมากจากข้อตกลงการค้าระหว่างไทยกับจีน ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี...การลดภาษี ภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับรัฐบาลจีนสนับสนุนให้คนจีนส่งออกสินค้าด้วยมาตรการอุดหนุนด้านภาษี ทำให้ต้นทุนของจีนต่ำขายได้ถูกกว่า ขณะที่คนไทยสู้ไม่ได้ เนื่องจากคนไทยต้องซื้อสินค้าต่างๆ จากจีนในราคาที่แพงกว่า การนำเข้าสินค้าต้องจ่ายภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆ ทำให้คนไทยสู้กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาใหม่ไม่ได้
ปากคลองตลาด
“ทุนจีนบุกปากคลองตลาดมาแรงมาก!” ปัจจุบันมีคนจีนมาเช่าร้านขายดอกไม้ในย่านปากคลองตลาดจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยคนจีนเหล่านี้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา คือราคาดอกไม้ไทยสู้ดอกไม้จากจีนไม่ได้ ดอกไม้จากจีนดอกใหญ่ราคาถูกมาก อย่างเช่นต้นทุนของดอกกุหลาบจากเมืองจีนราคาถูกมาก คนไทยสู้ไม่ได้เลย
กระแสการซื้ออสังหาฯ ของชาวจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
ย่านพระราม 9 รัชดา เป็นแหล่งที่ชาวจีนมาซื้ออสังหาฯ ในย่านนี้กันมาก ช่วงก่อนโควิด ราคาสูงมาก ในส่วนนี้ขอสรุปสถานการณ์จากตารางการซื้อขายอสังหาฯ ของชาวจีนอพยพใหม่ ดังนี้
จากข้อสถิติการโอนห้องชุดให้ต่างชาติ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีการโอนห้องชุดให้ชาวต่างชาติ 7,290 หน่วย มูลค่า 36,986 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการโอนให้กลุ่มชาวจีน 3,562 หน่วย คิดเป็น 48.9 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 17,943 ล้านบาท คิดเป็น 48.5 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลสถิติในช่วง 5 ปี (ปี 61-65) มีการโอนห้องชุดให้ชาวต่างชาติ 50,000 หน่วย มูลค่า 230,329 ล้านบาท ชาวจีน 124,000 ล้านบาท คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์
และจุดเปลี่ยนที่สำคัญน่าจับตามากคือ การซื้ออสังหาฯ ของชาวจีนกำลังเปลี่ยนไปจากการซื้อขยายสู่การลงทุน โดยใช้นอมินีไทยจดทะเบียนนิติบุคคล เงินลงทุนเป็นของชาวจีน 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีมากกว่า 10-20 โครงการ เจ้าของโครงการเหล่านี้ขายบ้านให้ชาวจีนทางออนไลน์
‘ซามาเนีย พลาซ่า’ กับคำถามกลุ่มทุนไทยเล็กๆ จะอยู่กันได้ไหม?
ซามาเนีย พลาซ่า (Samanea Thailand) ของกลุ่มทุนจีนกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก โครงการมหึมานี้ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราดครอบคลุมพื้นที่ถึง 220 ไร่ เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ครบวงจร ศูนย์การค้าส่งค้าปลีกครบครัน คลังเก็บสินค้า เป็นแหล่งนำสินค้านำเข้าจากจีนจนเรียกขานกันว่าเสมือนยกทั้งเมืองเซินเจิ้น อี้อู และกว่างโจวซึ่งเป็นแหล่งผลิตและขายของราคาถูกในจีนมารวมอยู่ในห้างนี้
ซามาเนีย พลาซ่า กำลังเป็นประเด็นร้อนของการบุกครั้งใหญ่ยักษ์ของทุนจีน ที่สร้างความกังวลและคำถามว่า ต่อไปกลุ่มทุนไทยเล็กๆ จะอยู่ได้ไหม?