xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังฝรั่งเศสเห็นด้วย “มาครง” ไม่ร่วมก๊วนมะกันต่อต้านจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง (ซ้าย) กับนายบรูโน เลอ แมร์ รมว.คลัง ระหว่างการประชุมที่ทำเนียบประธานาธิบดี พระราชวังเอลิเซในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 - ภาพ : เอพี
นายบรูโน เลอ แมร์ รมว.คลังของฝรั่งเศสระบุ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ทำถูกต้องแล้วที่พาตัวออกห่างจากนโยบายการเผชิญหน้ากับจีนของสหรัฐอเมริกา

มาครงให้สัมภาษณ์ โพลิติโก (Politico) สื่อดิจิทัลระหว่างการเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยยืนกรานว่า ยุโรปต้องหลีกเลี่ยงการทำตามการบอกบทของสหรัฐฯ กรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นไต้หวัน และต้องวางตัวเป็นกลางทั้งกับสหรัฐฯ และจีนในเรื่องนี้
 
“ ฝยุโรปเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่”

 
“ถ้าจมอยู่กับวิกฤตที่ไม่ใช่เรื่องของเรา” มาครงระบุ

 
นายบรูโน ขุนคลังของมาครงกล่าวกับสถานีวิทยุยุโรปวัน (Europe 1 radio station) ของฝรั่งเศสเมื่อวันอังคาร (11 เม.ย.) ว่า มาครงทำถูกต้องที่สุดแล้วในการเรียกร้องความเป็นอิสระและอธิปไตยของยุโรปอย่างที่ทำมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2560

 
“เห็นได้ชัดว่า เราเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา”


“เรามีค่านิยมเดียวกัน มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายอย่างร่วมกัน แต่เพียงเพราะว่าเราเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็มิได้หมายความว่าเราต้องอยู่ตรงข้ามกับจีน” นายบรูโน พูดชัดเจน


รมว.คลังฝรั่งเศสกล่าวด้วยว่า ฝรั่งเศสเลือกหนทางการเจรจา ซึ่งดีกว่าความคิดที่จะเผชิญหน้าและการเร่งให้วิกฤตการณ์ใดก็ตามทวีความรุนแรง


ทั้งนี้ ความเห็นของผู้นำฝรั่งเศสถูกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (9 เม.ย.) มาครงถูกสื่อของสหรัฐฯ และออสเตรเลียวิจารณ์เดือด อีกทั้งก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างครึกโครมในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นว่าสหภาพยุโรป (อียู) ควรดำเนินความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐฯ อย่างไร 

รัฐบาลกรุงปารีสมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปักกิ่ง โดยระหว่างการเยือนจีนครั้งนี้ บริษัทใหญ่ของฝรั่งเศส 7 ราย ซึ่งรวมทั้งแอร์บัส บริษัทพลังงานอีดีเอฟ บริษัทต่อเรือ ซีเอ็มเอ-ซีจีเอ็ม ได้มีการลงนามการทำสัญญาหรือขยายสัญญาร่วมกับบริษัทจีนหลายฉบับ
 
นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยแรกในปี 2560 มาครงออกมาพูดเรื่องการลดการพึ่งพาสหรัฐฯ มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกันทางทหาร อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีวิกฤตการณ์ยูเครน ในฐานะชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ฝรั่งเศสได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการจัดส่งอาวุธให้ยูเครน และสนับสนุนอียูคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสได้รับผลกระทบและเกิดการประท้วงวุ่นวายในประเทศตามมา โดยมาครงยังพยายามทำหน้าที่เป็นคนกลางเจรจาเพื่อยุติการสู้รบในยูเครน แต่ก็ไม่สำเร็จ


ข้อมูล : อาร์ทีนิวส์/ยูโรนิวส์



กำลังโหลดความคิดเห็น