คณะนักวิจัยจีนพัฒนาแบตเตอรี่น้ำเค็มแบบฝังและชาร์จพลังงานได้เอง ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยฆ่าเซลล์เนื้องอกด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเติบโตของเนื้องอก
การศึกษาฉบับดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) เมื่อไม่นานมานี้ โดยอธิบายว่าแบตเตอรี่ชนิดนี้จะลดปริมาณเนื้องอกเฉลี่ยร้อยละ 90 ในช่วง 2 สัปดาห์ และกำจัดเนื้องอกในหนู 4 ตัวจาก 5 ตัว หากใช้ร่วมกับสารประกอบผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมที่เรียกว่าทิราปาซามีน (tirapazamine)
ทีมงานจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นได้แรงบันดาลใจจากปฏิกิริยารีดอกซ์ของขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ โดยพวกเขาออกแบบอุปกรณ์แบบฝัง ซึ่งประกอบด้วยโพลีอิไมด์ที่มีส่วนประกอบเป็นคาร์บอนิล และโลหะสังกะสีที่เข้ากันได้ทางชีวภาพ
แบตเตอรี่ดังกล่าวสามารถสร้างวงจรการคายประจุและการชาร์จตัวเองเพื่อใช้งานออกซิเจนในเนื้องอกของหนู ซึ่งจะควบคุมปริมาณออกซิเจนและระดับความเป็นกรด-ด่าง หรือค่าพีเอช (pH) ของเนื้องอก
การศึกษาเผยว่าแบตเตอรี่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเนื้องอกของทิราปาซามีนในการฆ่าเซลล์เนื้องอกในหนู โดยทิราปาซามีนจะใช้ประโยชน์จากสภาวะการลดลงของออกซิเจน (oxygen-depleted) ของเนื้องอกเพื่อเลือกฆ่าเซลล์ที่ขาดออกซิเจน พร้อมเสริมว่าแบตเตอรี่น้ำเกลือมีความสามารถการปรับเปลี่ยนรูปดี จึงสามารถฝังเข้าชั้นใต้ผิวหนังบนผิวเนื้องอกและครอบคลุมพื้นผิวเนื้องอกอย่างเหมาะสม
จางฝาน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้เขียนการศึกษาข้างต้น ระบุว่าแบตเตอรี่น้ำเกลือสามารถถูกนำมาใช้เป็นตัวควบคุมสิ่งแวดล้อมระดับจุลภาคของเนื้องอกที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรักษาเนื้องอก ทั้งไม่มีรายงานการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของน้ำหนักตัว ผิวหนัง และอวัยวะปกติของหนูระหว่างการรักษา ซึ่งบ่งชี้ว่าแบตเตอรี่ทำงานภายในร่างกายได้อย่างปลอดภัย
เซี่ยหย่งเหยา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมเขียนการศึกษาฉบับนี้ ชี้ว่าการดำเนินงานครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบข้ามกลุ่มระหว่างเทคโนโลยีแบตเตอรี่และชีวบำบัด ซึ่งไม่เพียงมอบวิธีการรักษาเนื้องอกแบบใหม่ แต่ยังสร้างต้นแบบแบตเตอรี่สำหรับการประยุกต์ใช้ด้านชีวการแพทย์ด้วย
ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว