xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจีนส่ายหน้า รัฐบาลท้องถิ่นงัดนโยบายชวนปั๊มลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานเล่นสนุกกันภายในสวนสาธารณะในกรุงปักกิ่งของจีนเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2564 - แฟ้มภาพรอยเตอร์
รัฐบาลระดับท้องถิ่นในจีนผุดไอเดียบรรเจิด แก้ไขปัญหาอัตราการเกิดของประชากรบนแดนมังกรดิ่งต่ำสุด แต่ถูกผู้คนสวดยับ
 
“น้องคนเล็กจะได้คะแนนสอบเพิ่มขึ้น” นี่คือมาตรการจูงใจหนึ่งในบรรดามาตรการแปลกๆ ที่ผลักดันกันออกมา เพื่อหวังดึงดูดความสนใจให้ครอบครัวชาวจีนขยันปั๊มลูกกันมากขึ้น

 
นโยบายใหม่เหล่านี้ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น การอนุญาตให้คนเป็นพ่อลางานเพื่อไปเลี้ยงดูบุตรได้ด้วย หรือการลดค่าเรียนพิเศษ และการแก้ไขผลการสอบ สำหรับครอบครัวที่มีบุตรมากกว่าหนึ่งคน อย่างไรก็ตาม นโยบายถูกผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ว่า กำลังสร้างระบบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม
 
รัฐบาลระดับท้องถิ่นออกมาตรการขานรับเสียงเรียกร้องของหน่วยงานการตรวจสอบประชากรและการพัฒนาครอบครัว ที่ขอให้ผู้นำท้องถิ่นช่วยกันหาทางส่งเสริมอัตราการเกิดของประชากร หลังจากจีนรายงานเมื่อเดือน ม.ค.2566 ว่า อัตราการเกิดของประชากรในประเทศลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี เหลือเพียง 6.77 ต่อประชากร 1 พันคน ซึ่งมองกันว่า เป็นผลจากนโยบายลูกคนเดียวที่ทางการบังคับใช้มานาน 35 ปี ตั้งแต่ปี 2523-2558

 
รัฐบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่งในเมืองเจ๋อโจว มณฑลซานซี ทางภาคเหนือ เสนอให้นักเรียน ซึ่งเกิดหลังจากวันที่ 30 ม.ค. ปี 2556 โดยเป็นลูกคนที่ 2 หรือที่ 3 ในครอบครัว จะได้รับคะแนนพิเศษอีก 10 คะแนนโดยอัตโนมัติสำหรับการสอบเข้าโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา

 
ปรากฏว่า มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายใหม่เหล่านี้บนแพลตฟอร์มเวยปั่ว หรือทวิตเตอร์เวอร์ชันจีนมากกว่า 120 ล้านคน ภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงในสัปดาห์นี้

 
บล็อกเกอร์ด้านกฎหมายชื่อดังผู้ใช้ชื่อว่า “ทนายจวง จื่อหมิง” เรียกนโยบายนี้ว่า “มาตรการปีศาจ” ซึ่งสวนทางกับจิตวิญญาณพื้นฐานของความเสมอภาคทางการศึกษา

“นโยบายไร้สมองแบบนี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง” เขาถาม

 
ผู้เข้ามาแสดงความเห็นอีกคนชี้ว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงคือเวลานี้ผู้คนไม่อยากมีบุตรคนแรกด้วยซ้ำ


ด้านนายสยง ปิงฉี ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ระบุว่า ประเด็นคือคู่สามีภรรยามากมายไม่อยากแม้กระทั่งการมีลูกแค่คนเดียว และการปรับปรุงให้เกิดความเท่าเทียมกันคือกุญแจสำคัญในการผ่อนคลายความวิตกกังวลของพ่อแม่เกี่ยวกับการศึกษาของลูก ไม่ใช่การเพิ่มคะแนนสอบอะไรแบบนั้น

ที่มา : เดอะเทเลกราฟ



กำลังโหลดความคิดเห็น