ซีอีโอ “ติ๊กต็อก” เข้าชี้แจงต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของนักการเมืองมะกันให้อัปเปหิแอปพลิเคชันแชร์วิดีโอยอดฮิตรายนี้ออกไปจากประเทศ ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงว่า เป็นเครื่องมือจารกรรมของรัฐบาลจีน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
การไต่สวนมีขึ้นเมื่อวันพฤหัสฯ (23 มี.ค.) โดยนางแคที แม็กมอร์ริส ร็อดเจอส์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการค้า เริ่มต้นด้วยการแจ้งกับนายโจว โซ่วจือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของติ๊กต็อกว่า “แพลตฟอร์มของคุณควรถูกห้ามใช้”
ซีอีโอชาวสิงคโปร์ วัย 40 ปี ถูกซักถามอย่างละเอียดยิบอยู่นาน 5 ชั่วโมง ในหลายประเด็น เช่น ประเภทข้อมูลที่ติ๊กต็อกจัดเก็บ ความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้แอป การตรวจสอบเนื้อหา การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน หรือผลกระทบของเนื้อหาต่อเยาวชน รวมถึงเรื่องที่ว่าบริษัทมีความผูกพันกับประเทศจีน
ด้านนายโจว พยายามคลายความวิตกกังวลในข้อที่ว่า “ติ๊กต็อก” จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เพราะมีบริษัท “ไบต์แดนซ์” สัญชาติจีนเป็นบริษัทแม่ โดยย้ำว่า “ติ๊กต็อก” เป็นอิสระจากจีน และเป็นมิตรกับสหรัฐฯ
“ติ๊กต็อกเองมิได้ให้บริการในจีนแผ่นดินใหญ่ เรามีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอสแอนเจลิส และสิงคโปร์ อีกทั้งเรามีพนักงาน 7 พันคนในสหรัฐฯ ขณะนี้” ซีอีโอติ๊กต็อกระบุในคำกล่าวเปิดการเข้าชี้แจง
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นายโจว พยายามกล่าวย้ำอยู่หลายครั้งว่า บริษัทของตนมิได้เป็นสาขาของรัฐบาลจีน และมีแนวทางปฏิบัติไม่แตกต่างจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่นๆ ของสหรัฐฯ
ทว่าสมาชิกรัฐสภาหลายคนไม่ฟัง แต่กลับขัดจังหวะ และเอาแต่บอกว่า ไม่เชื่อ
ประธานคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า สิ่งที่ชาวอเมริกัน ซึ่งกำลังชมการไต่สวนในวันนี้ได้ยินคือติ๊กต็อกเป็นอาวุธที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้มาสืบความลับ และหาประโยชน์จากคนรุ่นหลัง
เมื่อนายโจว ชี้แจงกับนางแอนนา เอสชู ส.ส. รัฐแคลิฟอร์เนีย จากพรรคเดโมแครตว่า ติ๊กต็อกดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ชาวอเมริกัน โดยให้บริษัทและบุคลากรของสหรัฐฯ เป็นผู้ดูแล และเขาไม่พบหลักฐานว่า รัฐบาลจีนเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น อีกทั้งรัฐบาลจีนไม่เคยขอให้ติ๊กต็อกส่งข้อมูล
แต่นางเอสชู ตอบว่า เธอไม่เชี่อสิ่งที่ติ๊กต็อกทำ หรือที่นายโจวบอก
นายโจว ออกอาการหงุดหงิด เมื่อนักการเมืองหลายคนพยายามต้อนให้เขาตอบหลายต่อหลายคำถามแค่ว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แต่เขาชี้แจงว่า มันเป็นเรื่องของเทคนิคและมีความซับซ้อนมากเกินกว่าจะตอบแค่ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”
อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ก็มิได้แสดงหลักฐานมายืนยันว่า “ติ๊กต็อก” นำข้อมูลของผู้ใช้แอปชาวอเมริกันไปให้แก่รัฐบาลจีน หรือรับคำสั่งจากปักกิ่งให้สร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลโน้มน้าวใจผู้ใช้แอป
ก่อนหน้าการเข้าชี้แจง บริษัทยังได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) ว่า มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกรายเดือนชาวอเมริกันราว 150 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านเมื่อหนึ่งปีก่อน เป็นข้อมูลที่บริษัทต้องการย้ำให้เห็นว่า ติ๊กต็อกได้เข้าร่วมอยู่ในวัฒนธรรมอเมริกันในระดับที่ไม่ธรรมดาเลย
ส.ส.โรเบิร์ต แลตต้า จากรัฐโอไฮโฮ พรรครีพับลิกัน ถามว่า พนักงานของไบต์แดนซ์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายข่าวกรองแห่งชาติของจีน ซึ่งกำหนดให้องค์กรหรือพลเมืองคนใดก็ตามต้องให้ความร่วมมือกับในงานด้านข่าวกรองของรัฐบาล หรือไม่
“ในอดีตใช่ แต่” นายโจวกำลังตอบคำถาม แต่ก็ถูกตัดบท
เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการรักษาความปลอดภัยสำหรับข้อมูลผู้ใช้ชาวอเมริกัน ซีอีโอติ๊กต็อกชี้แจงด้วยว่า ติ๊กต็อกมีโครงการริเริ่มชื่อว่า “โปรเจกต์เทกซัส” ด้วยงบประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำร่วมกับบริษัท ออราเคิล ของสหรัฐฯ เพื่อย้ายข้อมูลของผู้ใช้ไปเก็บในเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศในรัฐเทกซัส ภายใต้การกำกับของหน่วยงานความมั่นคงด้านข้อมูลของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผู้ตรวจสอบอัลกอริทึม และดูแลนโยบายเกี่ยวกับคอนเทนต์ของติ๊กต็อก
เขาเชื่อมั่นว่า ติ๊กต็อกเป็นเพียงบริษัทเดียว ที่สร้างความโปร่งใสได้ในระดับนี้ และบริษัทโซเชียลมีเดียของสหรัฐฯ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก หรือเคมบริดจ์แอนะลิติกาก็ไม่มีประวัติบริสุทธิ์ผุดผ่องในการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เช่นกัน
ทั้งนี้ ในฐานะบริษัทเอกชน ติ๊กต็อกมีนักลงทุนประเภทสถาบันทั่วโลกถือหุ้น 60% อีก 20% ถือโดยผู้ก่อตั้งบริษัท และพนักงานถือหุ้นที่เหลือ 20% บริษัทมีคณะกรรมการบริหาร 5 คน โดย 3 คนเป็นชาวอเมริกัน การเข้าชี้แจงครั้งแรกต่อสภาคองเกรสมีขึ้น หลังจากติ๊กต็อกออกมาระบุว่า รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน เรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชาวจีนขายหุ้นในติ๊กต็อก มิเช่นนั้นก็อาจเสี่ยงถูกสหรัฐฯ ประกาศการห้ามใช้แอปพลิเคชันนี้ในประเทศ โดยติ๊กต็อกถูกสั่งถอดจากอุปกรณ์ทั้งหมดของหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไปแล้วเมื่อไม่นาน และอีกกว่า 30 รัฐ ก็เห็นชอบมาตรการเดียวกันนี้ ขณะที่มีร่างกฎหมายหลายฉบับกำลังผ่านขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อจัดการกับติ๊กต็อก ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ขายหุ้น ไปจนถึงเนรเทศพ้นสหรัฐฯ ไปเลย
ข้อมูล : ซีเอ็นเอ็น/เดอะฮอลลีวูดรีพอร์เตอร์