เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - รายงานการจัดอันดับความมั่นคั่งทั่วโลกประจำปี 2566 ของหูรุ่น (Hurun Global Rich List) ระบุว่า ในปีที่แล้วมีเศรษฐีทั่วโลกหมดสภาพมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมด 445 คน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเศรษฐีนักธุรกิจชาวจีน จำนวน 229 คน เป็นการหลุดจากทำเนียบเศรษฐีพันล้านดอลลาร์สหรัฐจำนวนมากที่สุดของแดนมังกร นับตั้งแต่หูรุ่นรายงานการจัดอันดับครั้งแรกเมื่อปี 2556 อันเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ เศรษฐกิจซบเซา ตลาดหุ้นดิ่งร่วง และเงินหยวนอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม จีนมีมหาเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาเป็นจำนวนมากที่สุดถึง 69 คนด้วยเช่นกัน ซึ่งดูจากความมั่งคั่งสุทธิเมื่อวันที่ 16 ม.ค.
สำหรับมหาเศรษฐีร่ำรวยอันดับที่ 1 ของจีน ยังคงเป็นนายจง สานส่าน วัย 69 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำดื่มหนงฟู (Nongfu Spring) ซี่งครองความมั่งคั่งมากที่สุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยทรัพย์สิน จำนวน 69,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4% จากปีก่อนหน้า และติดอันดับที่ 15 บุคคลร่ำรวยที่สุดในโลก
อันดับที่ 2 นายโพนี่ หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทเทนเซนต์ ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 5 แม้เขามีความมั่งคั่งสุทธิลดลง 25% มาอยู่ที่ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม และยังติดอันดับที่ 31 ของบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลก
อันดับที่ 3 นายจาง อีหมิง วัย 40 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทไบต์แดนซ์ โดยหล่นจากอันดับที่ 2 ด้วยจำนวนทรัพย์สินหดหาย 31% เหลือ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา และเจ้าของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ติดอันดับที่ 9 ด้วยความมั่งคั่งสุทธิลดลง 32% เหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และติดอันดับที่ 52 ของโลก
ส่วนนายลี กาชิง ยังคงเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดของฮ่องกง และมั่งคั่งอันดับที่ 39 ในโลก โดยมีทรัพย์สินลดลง 6% เหลือ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีพันล้านชาวจีนรวมทั้งหมดในทำเนียบของหูรุ่น ลดลง 15% ขณะที่ความมั่งคั่งสุทธิของมหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลกลดลง 10% มหาเศรษฐีพันล้านชาวจีนเหล่านี้มีชาวฮ่องกง 77 คน และชาวไต้หวัน 46 คนรวมอยู่ด้วย นักธุรกิจผู้มั่งคั่งชาวจีนติด 100 อันดับบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลกทั้งหมด 26 คน
นายรูเพิร์ต ฮูจเวิร์ฟ ประธาน และหัวหน้านักวิจัยของบริษัทหูรุ่นรีพอร์ต ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ภาวะฟองสบู่แตกของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงโควิด-19 ระบาด และผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ล้วนส่งผลเสียต่อตลาดหุ้น
ทั้งนี้ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโตตัวมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษแค่ 3% ในปี 2565 ขณะที่ในช่วง 12 เดือนจนถึงวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นแนสแดค ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วง 26% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วง 14% ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วง 8% ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นเซินเจิ้นร่วง 8% และ 17% ตามลำดับ
ในช่วงเดียวกันนี้ เงินหยวนยังอ่อนค่า 6% ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินทองของมหาเศรษฐีพันล้านจีนหดหาย เนื่องจากการจัดอันดับของหูรุ่นคำนวณความมั่งคั่งสุทธิในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเป็นชาติที่มีมหาเศรษฐีพันล้านมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 969 คน ขณะที่สหรัฐฯ มี 691 คน มากกว่าสหรัฐฯ 40%
สหรัฐฯ และจีนมีมหาเศรษฐีพันล้านรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 53% ของทั้งหมด 3,112 คนในโลก โดยจีนแซงหน้าสหรัฐฯ มีมหาเศรษฐีพันล้านมากกว่ามาตั้งแต่รายงานของหูรุ่นในปี 2559 และยังรั้งตำแหน่งมาถึงปัจจุบัน