xs
xsm
sm
md
lg

“สี จิ้นผิง” พบ “ปูติน” เข็มทิศชี้การค้าพญามังกร-หมีขาวเฟื่องฉลุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธงชาติจีนและรัสเซียโดดเด่นที่บริเวณจัตุรัสแดงในกรุงมอสโก - ภาพ : ซินหัว
โกลบอลไทมส์ / อาร์ที - มูลค่าการค้ารายปีระหว่างจีนกับรัสเซียขยับสู่เป้าหมาย 2 แสนล้านดอลลาร์ เร็วกว่าที่กำหนด ท่ามกลางมิตรภาพและการกระชับความร่วมมือทางธุรกิจในหลากหลายมิติระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสอง

ที่กรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้ลงนามในแถลงการณ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-รัสเซีย เกี่ยวกับแผนการพัฒนาในภาคสำคัญๆ จนถึงปี 2573 หลังจากผู้นำทั้งสองมีการหารือกันในเรื่องการเพิ่มขนาดการค้า การลงทุน การพัฒนาระบบการจัดส่งสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน การขยายความร่วมมือด้านการเกษตร เพื่อให้มั่นใจว่าชาติทั้งสองมีความมั่นคงด้านอาหาร และการปรับปรุงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนด้านพลังงาน ทรัพยากรแร่ โลหะ และเคมีภัณฑ์ นอกจากนั้น ผู้นำชาติทั้งสองยังให้คำมั่นขยายความร่วมมือในด้านเทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ

ประธานาธิบดีปูติน ประกาศว่า ด้วยศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และความสามารถในการผลิตที่มีอยู่สูงของชาติทั้งสอง เมื่อมาอยู่รวมกันจะทำให้รัสเซียและจีนสามารถเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความมั่นคงปลอดภัยของระบบอินเทอร์เน็ต และด้านปัญญาประดิษฐ์

ด้านประธานาธิบดี สี เชื้อเชิญให้ปูตินมาเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมฟอรัมเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ “สายแถบและเส้นทาง” ครั้งที่ 3 (the third Belt and Road Forum for International Cooperation) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในปีนี้ สียังระบุว่า ปูตินเคยมาร่วมประชุมแล้ว 2 ครั้ง และความร่วมมือ “เบลต์แอนด์โรด” เป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงจีนกับรัสเซีย

ทั้งนี้ การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียขยายตัวทำลายสถิติในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซียถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร โดยมีมูลค่าสูงถึง 190,270 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 116% จากปี 2555 จีนและรัสเซียเคยตั้งเป้าหมายร่วมกันเมื่อปี 2562 ว่า การค้าระหว่างกันจะโตถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2567 แต่ความสำเร็จนี้กลับมาเร็วกว่าที่กำหนด โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่า จะทะลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปีนี้ การค้าจีน-รัสเซียราว 2 ใน 3 ซื้อขายกันด้วยเงินหยวนกับเงินรูเบิล เนื่องจากพยายามเลิกพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้น ปูตินยังให้การรับรองการใช้เงินหยวนในการค้าขายกับชาติอื่นๆ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกาอีกด้วย

นายโจว ลี่ฉวิน ประธานสหภาพผู้ประกอบการจีนในรัสเซียระบุว่า ความร่วมมือการค้าจีน-รัสเซียสามารถทนทานต่อผลกระทบจากความผันผวนภายนอกและโรคโควิด-19 แพร่ระบาดมาได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ย่อมแสดงถึงความสามารถที่แข็งแกร่งในการปรับตัว และการพบปะหารือระหว่างสี กับปูติน เปรียบเหมือน “เข็มทิศ” ชี้นำความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสอง ผู้ประกอบการชาวจีนในรัสเซียมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมเกี่ยวกับลู่ทางการทำมาหากิน

ประธานาธิบดี สี  จิ้นผิง แห่งจีน และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย หารือร่วมกันที่ทำเนียบเครมลิน ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 - ภาพ : เอเอฟพี
จากข้อมูลศุลกากรจีนเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) รัสเซียเป็นชาติผู้ขายน้ำมันให้จีนมากเป็นอันดับ 1 ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2566 โดยส่งน้ำมันดิบราว 15 ล้าน 6 แสน 8 หมื่นล้านตันมาให้ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรายนี้

ด้านบริษัทก๊าซพรอมของรัสเซียส่งก๊าซธรรมชาติให้จีนผ่านท่อส่ง “เพาเวอร์ออฟไซบีเรีย” ทำสถิติสูงสุดในการส่งรายวันเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) จากรายงานของสำนักข่าวทาสส์


ขณะเดียวกัน สินค้าปริมาณมหาศาลจากจีนก็รอส่งไปขายในรัสเซีย จากการเปิดเผยของผู้จัดการของบริษัทโลจิสติกส์ ในเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเน้นทำการค้ากับรัสเซียและเบลารุส โดยทุกเดือนบริษัทจะส่งรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ประมาณ 7 ขบวน แต่ละขบวนขนตู้สินค้าขนาดมาตรฐานราว 55 ตู้ ใช้เวลาเดินทางราว 35 วัน ก็ถึงกรุงมอสโก


ขณะนี้จีนเริ่มขยายการลงทุนในรัสเซียจากเดิมอยู่ในภาคพลังงานและเกษตรกรรมเป็นหลัก มาเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน และการแปรรูปอาหาร นักวิจัยของสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองโลกในสังกัดสถาบันสังคมศาสตร์จีน ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเบาของรัสเซียยังอ่อนแอ และขณะนี้มีบริษัทจีนกว่า 1,000 รายเข้าไปตั้งโรงงานในรัสเซียแล้ว


ภายในสิ้นปี 2565 จำนวนตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แบรนด์จีนในรัสเซียเพิ่มเป็น 1,041 ราย ขณะเดียวกัน สินค้าคุณภาพจากรัสเซีย เช่น ช็อกโกแลต ไอศกรีม น้ำผึ้ง แป้งทำอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีมาให้ลูกค้าชาวจีนซื้อหาได้ทั่วไปมากขึ้น


นอกเหนือจากนี้ นายเปา เจี้ยนอวิ้น ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ระบุว่า จีนกับรัสเซียจะมีการขยายความร่วมมือในภาคการเงิน เช่น การสร้างสกุลเงินดิจิทัลร่วมกัน และต่อไปอาจขยายความร่วมมือในสาขาการให้บริการแบบ third-party services โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจเป็นการร่วมมือภายใต้กรอบการทำงานของชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์ และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ก็เป็นได้



กำลังโหลดความคิดเห็น