โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ตั้งแต่จีนประกาศการยุติของโรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศจีนกลับมาคึกคักในทันที ประชาชนเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายกันมากขึ้น การทยอยเดินทางทั้งขาเข้าและขาออกต่างประเทศของจีนเริ่มกลับมา ปัจจุบันการเดินทางเข้าจีนไม่ต้องกักตัวและใช้เพียงผลตรวจโควิดแบบ ATK เท่านั้น และจากวันที่ 15 มี.ค.นี้เป็นต้นไป จีนเปิดประตูรับชาวต่างชาติเข้าประเทศอย่างเต็มสูบแล้วโดยเปิดรับการยื่นขอวีซ่าเข้าจีนทุกประเภทรวมถึงวีซ่าท่องเที่ยว ในส่วนของการเดินทางขาออกไปต่างประเทศของคนจีนดูจะคึกคักมากกว่า คนจีนเริ่มที่จะหาตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศตั้งแต่รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการกักตัวขาเข้าประเทศ หลายประเทศทั่วโลกเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน จัดแคมเปญต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน
ไทยแลนด์มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ก่อนการระบาดของโควิด-19 คนจีนเดินทางไปเที่ยวไทยมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี หากไม่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นก่อนผู้เขียนเชื่อว่าในปี 2020-2022 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปไทยน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปีอย่างแน่นอน หลังจากที่จีนประกาศสิ้นสุดของโรคโควิด-19 เป็นสัญญาณว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ชาวจีนที่ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมามากกว่า 3 ปี ก็กระหายการท่องเที่ยว ชาวจีนกลุ่มที่ชอบท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นทุนเดิม ในครั้งนี้หลายคนมีแผนที่จะไปเที่ยวในหลายประเทศในคราวเดียว ยกตัวอย่างเช่น เที่ยวในอาเซียนไม่ใช่เที่ยวแค่ไทยประเทศเดียว แต่มีแผนการเดินทางต่อไปสิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น
หากถามผู้เขียนว่าหลังจากที่จีนเปิดประเทศ ประเทศใดเป็น “จุดมุ่งหมายอันดับหนึ่ง” ของการเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศของคนจีน ผู้เขียนขอตอบว่า “ประเทศไทย” ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่คนจีนอยากเดินทางออกไปท่องเที่ยวมากที่สุด ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากแพลตฟอร์มเอเยนซีท่องเที่ยวดังของจีนอย่าง Ctrip.com และ Qunar.com จากยอดการค้นหาคำว่า ประเทศไทย การท่องเที่ยวไทย การค้นหาจองโรงแรมและค้นหาการจองตั๋วเครื่องบินมากเป็นอันดับหนึ่ง การท่องเที่ยวไทยได้รับความนิยมมากขนาดนี้นอกเหนือจากไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่น อาหารอร่อย ต้นทุนการท่องเที่ยวไม่แพงแล้ว การประชาสัมพันธ์สื่อสารของภาครัฐไทยต่อชาวจีนก็ทำได้อย่างดีและทันท่วงที
“ประเทศไทยไม่ได้มีดีแค่การท่องเที่ยว” แต่การท่องเที่ยวไทยที่โด่งดัง นำมาซึ่งโอกาสและความร่วมมือหลายอย่างระหว่างไทยและจีน ปัจจุบันคนจีนคุ้นเคยและรู้จักประเทศไทยมากขึ้นผ่านหลากหลายช่องทางบนโลกออนไลน์ และอีกช่องทางหนึ่งที่มีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ยิ่งกระชับสัมพันธ์กับชาวจีนและชาวต่างชาติอื่นๆ ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น นั่นคือ งานเทศกาลไทย (Thai Festival)
ในครั้งนี้ผู้เขียนจึงอยากจะพาท่านผู้อ่านไปอินไซด์งานเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่งในปีนี้ ที่จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 11-12 มี.ค.ที่ผ่านมา งานเทศกาลไทยในกรุงปักกิ่งปีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
1.เป็นงานเทศกาลไทยครั้งแรกที่จัดขึ้นหลังจากที่จีนประกาศยุติของโรคโควิด-19
2.การจัดงานในครั้งนี้มีการเปิดให้ผู้เข้าชมทั่วไปลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า โดยจำกัดผู้เข้าชมงาน 2 วัน 4,000 คน และการลงทะเบียนของผู้เข้าชมงานเต็มจำนวนภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง! ในวันงานจริงมีผู้เข้าชมที่ลงทะเบียนไม่ทันและขอเข้ามาชมงานเพิ่มเติมกว่า 2,000 คน รวมมีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้นรวมกว่า 6,000 คน
3.เชื้อเชิญให้ชาวจีนและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในจีนให้มาสัมผัสและรู้จักไทยมากกว่าแค่เรื่องการท่องเที่ยว มีเรื่องมวยไทย ผ้าไทย ชุดไทย และโชว์วัฒนธรรมการละเล่นไทย มีบูทร้านอาหารและเครื่องดื่ม 22 ร้านค้า และร้านขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ 20 กว่าร้านค้า อาหารและสินค้าหลายประเภทได้ขายหมดอย่างรวดเร็ว!
4.การจัดกิจกรรมเทศกาลไทยครั้งนี้เป็นการจัดงานในออนไลน์ที่ส่งตรงถึงบ้านด้วย โดยในปีนี้มีแพลตฟอร์มวิดีทัศน์สั้นยอดนิยมที่สุดของจีน เช่น โต่วอิน (Douyin) และไคว่โส่ว (Kuaishou) มีการไลฟ์สดไปยังเฟซบุ๊กของสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อให้คนไทยได้รับชมบรรยากาศงานไปพร้อมกันด้วย
5.ในงานเทศกาลไทยในครั้งนี้ต้องการสื่อถึงกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่เป็นหลัก ดังนั้นจึงมีการเชิญนักร้องไทย 2 ท่านที่โด่งดังคือ นายกรชิต และแพทริค ณัฐวรรธ์ สมาชิกวง INTO1 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจน #PaiPaixRTEBeijing ติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ของไทย (ในวันที่ 11 มี.ค.) และ #PatrickThaiFest2023 ติดอันดับที่ 23 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ทั่วโลกอีกด้วย
น.ส.มนรดา แย้มกสิกร เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้ให้ข้อมูลกับผู้เขียนเพิ่มเติมว่า “งานเทศกาลไทยในจีนมีการจัดงานในทุกๆ ปีติดต่อกันมามากกว่า 10 ปีแล้ว และปัจจุบันได้รับการจดจำในฐานะงานวัฒนธรรมไทยประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง จึงทำให้ชาวจีนเฝ้ารอที่จะเข้าร่วมงานทุกปี ในโซเชียลจีนแฮชแท็กคำว่า #เทศกาลไทย เข้าถึงผู้อ่านจีนจำนวน 71,609,000 ล้านครั้ง และแฮชแท็กคำว่า #จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน (中泰一家亲) ได้รับการกล่าวถึงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันดับ 1 ของจีนเวยปั๋ว (Weibo) จำนวนประมาณ 97,934,000 ล้านครั้ง ถือเป็นการกระตุ้นกระแสความนิยมไทยบนสื่อออนไลน์ของจีนอย่างต่อเนื่อง”
ต้องยอมรับว่าซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ของไทยดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อชาวจีนมากยิ่งขึ้นหลังจากโควิด-19 มีแนวโน้มว่าการท่องเที่ยวไทย สินค้าและบริการไทยจะดังและปังมากกว่าเดิม โดยจากงานเทศกาลไทยในปีนี้ได้มุ่งเน้นต่อยอดและขยายความนิยมไทยในกลุ่มชาวจีนในเชิงลึก โดยเน้นการรับรู้และสร้างความนิยมในมิติวัฒนธรรมอื่นๆ ให้มากขึ้นและผลักดันการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายความหลากหลายของสินค้าไทยในตลาดผู้บริโภคจีนอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง
นอกจากนี้ ในส่วนของสินค้าไทย ผู้เขียนได้เห็นสำนักงานพาณิชย์มีบูทการจัดแสดงสินค้าและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับผู้บริโภคจีน ให้เข้าใจกับตราสัญลักษณ์ต่างๆของสินค้าไทยที่ได้มาตรฐานส่งออกจากรัฐบาลไทย เนื่องจากปัจจุบันสินค้าปลอมจำนวนหนึ่งเคลมว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานจากไทย ซึ่งที่ผ่านมา ผู้บริโภคจีนส่วนใหญ่แยกไม่ออกระหว่างสินค้าปลอมและสินค้าที่ได้มาตรฐานไทยจริงๆ ทำให้งานในด้านการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ด้านตราสัญลักษณ์สินค้าไทยสำคัญมากๆ
ในส่วนของบูทสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีการให้บริการเช่าชุดไทยให้ผู้เข้าชมเพื่อถ่ายเป็นที่ระลึก ในส่วนเช่าชุดผู้เขียนยังมองอยู่ว่าไม่มีชุดนักเรียนไทยให้เช่า เลยถามกับเจ้าหน้าที่ประจำบูทได้คำตอบมาว่า หาซื้อชุดนักเรียนไทยไม่ทันกับงานนี้เพราะกระแสสวมชุดนักเรียนไทยถ่ายรูปของชาวจีนมาไวมาก จนเจ้าหน้าที่ประจำบูทชุดเช่าตั้งตัวกันไม่ทันเลยทีเดียว
จากประสบการณ์จริงของผู้เขียนในการเยี่ยมชมบรรยากาศงานเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่งในปีนี้ ต้องบอกว่าผู้สนใจเข้าร่วมงานเยอะเกินคาด และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม งานนี้ไม่ใช่แค่ชาวจีนเท่านั้นที่สนใจเข้าชมงาน ยังมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตประเทศต่างๆ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในปักกิ่งให้ความสนใจเข้าร่วมมากมาย กลุ่มคนที่เข้าร่วมชมงานและร่วมกิจกรรมมีอยู่ทุกช่วงอายุ ผู้เขียนรู้สึกภูมิใจที่กิจกรรมของไทยได้รับความสนใจมากขนาดนี้ ต้องขอขอบคุณสถานทูตไทยที่จัดงานไทยมีเทศกาลดีๆ ให้คนไทยในปักกิ่งได้พบปะและแลกเปลี่ยนกันด้วย ทิ้งท้ายกับสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าโดดเด่นคือความสนใจสินค้าไทยของผู้ชมงานมีมากขึ้น (ไม่จำกัดแค่อาหารการกิน) ดังนั้น ในอนาคตโอกาสของสินค้าไทยที่มีศักยภาพเข้ามาตีตลาดจีนน่าจะมีอนาคตที่สดใสอย่างแน่นอน