xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์พิเศษ : เจาะลึกกระแสชาวจีนอพยพใหม่ในไทย สู่ปรากฏการณ์ “กลุ่มจีนสีเทา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์พิเศษภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมวิจัยชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย
เมื่อพูดถึงชาวจีนที่อพยพโยกย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในประเทศไทย หลายคนจะนึกถึงชาวจีนอพยพในอดีตที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ นั่งเรือข้ามน้ำข้ามทะเลนานเป็นแรมเดือนมายังสยามประเทศ จนถึงยุคปัจจุบัน ไม่กี่ปีมานี้นับวันคนไทยยิ่งเห็นชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่หนาตามากขึ้น นอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวไทยถึงราว 10 ล้านคนในช่วงก่อนเกิดโรคโควิดระบาดใหญ่ ชาวไทยหลายคนยังสัมผัสได้ชัดเจนถึงชาวจีนหลากหลายกลุ่มที่เข้ามาไทยด้วยเป้าหมายต่างๆ เช่น กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มาศึกษาต่อในไทยถึงขนาดที่พ่อแม่ผู้ปกครองมาซื้อบ้าน อพาร์ตเมนต์เพื่อมาดูแลลูกกันเลยทีเดียว กลุ่มที่มาทำงานระยะเวลาหนึ่ง สำหรับกลุ่มที่จะพูดถึงนี้คือกลุ่มชาวจีนอพยพใหม่ที่เข้ามาอาศัยในไทย มาลงทุนทำงานหากินเลี้ยงชีพจนเกิดชุมชนชาวจีนแผ่ขยายออกไปตามเขตต่างๆ อย่างที่เห็นในกรุงเทพฯ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าว “มุมจีน” MGR ONLINE ได้ไปเจาะประเด็นมิติต่างๆ ของชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทยที่กลายเป็นข่าวหนาหูในทุกวันนี้ โดยสัมภาษณ์รองศาตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์พิเศษภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมการวิจัยหัวข้อ “ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย” การวิจัยนี้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2562 โดยการสัมภาษณ์ชาวจีนในจังหวัดต่างๆ ของไทยตลอดจนเดินทางไปประเทศจีนเพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ชาวจีนอพยพใหม่เริ่มเข้ามาไทยกันเมื่อไหร่ แรงจูงใจหรือปัจจัยกระตุ้นการอพยพมาเมืองไทย

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล : มองจากกระแสข่าวสังคมไทยเริ่มสนใจและพูดถึงชาวจีนอพยพใหม่หลังจากที่มีกระแสความวิตกกังวลว่ากลุ่มชาวจีนจะมาครอบงำธุรกิจไทย เช่น ในภาคการท่องเที่ยวมีการทำธุรกิจครบวงจรของกลุ่มคนจีนจากยุคที่ทัวร์ศูนย์เหรียญบูม

ระหว่างดำเนินการวิจัยเรื่องชาวจีนอพยพใหม่ก็เห็นประเด็นต่างๆ มากมาย อย่างแรกคือความแตกต่างจากชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต ชาวจีนโพ้นทะเลในอดีตเป็นศาสนิกชน ส่วนกลุ่มชาวจีนอพยพใหม่นั้นเกิดและเติบโตในยุคการปกครองของพรรคคอมมิวนสต์จีนซึ่งไม่นับถือศาสนา ดังนั้น ชาวจีนโพ้นทะเล 2 กลุ่มนี้จึงมีความคิดที่แตกต่างกัน...นี่เป็นความแตกต่างขั้นพื้นฐาน

เมื่อศึกษาลึกซึ้งขึ้นสามารถแบ่งช่วงการเข้ามาของชาวจีนอพยพใหม่ได้เป็น 2-3 ช่วง คือ

ช่วงแรก ชาวจีนอพยพใหม่รุ่นแรกเป็นยุคที่จีนเริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปเปิดประเทศช่วงปี ค.ศ.1980 ชาวจีนกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดมีฐานะยากจน ที่เรียกขานกันว่า “เสื่อผืนหมอนใบ” ส่วนใหญ่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย

ช่วงที่สอง เข้ามาในช่วงปี ค.ศ.1990 มีทั้งกลุ่มคนจีนที่ยากจน และกลุ่มที่มีเงินก็เริ่มเข้ามาบ้างแล้วแต่ยังไม่เอิกเกริก มีลักษณะเข้าๆ ออกๆ การเข้าเมืองของชาวจีนอพยพใหม่ในช่วงนี้มีทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ช่วงที่สาม เข้ามาในช่วงปี ค.ศ.2000 ซึ่งเป็นยุคเศรษฐกิจจีนเจริญรุ่งเรืองมาก ในปี ค.ศ.2001 จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ทำให้ชาวจีนเริ่มออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ กันมากขึ้น ซึ่งต่างจากชาวจีนอพยพในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 พวกนี้เข้ามาเพื่อหางานทำในไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่กลุ่มที่เข้ามาในช่วงปี 2000 มีเงินทุนของตัวเอง แต่ยังไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่ อาจจัดอยู่ในกลุ่มทุนขนาดย่อมและขนาดเล็ก (SME) ด้านรัฐบาลจีนส่งเสริมให้คนจีนออกไปทำการค้าลงทุนต่างประเทศโดยตรง

ในปี 2010 เศรษฐกิจจีนเฟื่องฟูมากขึ้น ชาวจีนอพยพใหม่ที่เข้ามาเป็นกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น มีฐานะดีกว่ารุ่นที่เข้ามาช่วงปี 2000 มีเงินติดตัวมาทำธุรกิจขนาดกลาง ที่ใหญ่กว่าขนาดกลางมีไม่มาก

กลุ่มจีนอพยพใหม่ที่กล่าวมานี้ยังไม่พูดถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างเช่น กลุ่มบริษัทรายใหญ่ที่มาตั้งสาขาโรงงาน สาขาธนาคารจีนหลายรายที่เห็นในกรุงเทพฯ ซึ่งมีพนักงานชาวจีนมาด้วย พนักงานเหล่านี้บางคนชอบชีวิตเมืองไทยก็อยู่ในไทยกลายเป็นชาวจีนอพยพใหม่ไปก็มี บางคนก็ย้ายกลับไปจีน

เพราะฉะนั้นจนถึงช่วงทศวรรษ 2010 ชาวจีนอพยพใหม่มีความหลากหลายมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่สี จิ้นผิง ขึ้นมาเป็นผู้นำในปี 2012 ดำเนินนโยบาย “ความฝันจีน” “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ก็ยิ่งกระตุ้นให้ชาวจีนออกนอกประเทศมากขึ้น

ชาวจีนอพยพใหม่ที่กล่าวมานี้อาจแบ่งเป็นภาพรวมย่อๆ 2 ภาพ คือ กลุ่มที่เข้ามาแบบปากกัดตีนถีบ “เสื่อผืนหมอนใบ” และกลุ่มที่มีฐานะเงินทุนเข้ามาเป็นผู้ประกอบการในไทย  2 กลุ่มนี้มีทัศนคติและแรงจูงใจบางอย่างก็เหมือนกัน บางอย่างก็ต่างกันไป

ไชน่าทาวน์ย่านถนนเยาวราชที่เป็นแหล่งทำมาค้าขายของชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาไทยในอดีต, ภาพท้องถนนเยาวราชในกรุงเทพฯ ปี 2023 (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
ชาวจีนอพยพใหม่เข้ามาอย่างไร ทำอาชีพอะไรกันบ้าง

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ตลอดช่วง 30-40 ปีที่ชาวจีนอพยพใหม่เข้ามาในไทย จากช่วง 1980-1990 ในตอนแรกที่อพยพเข้ามาหลายคนลักลอบเข้าเมืองมาอยู่อย่างผิดกฎหมาย ปัจจุบันกลายเป็นผู้ประกอบการได้สัญชาติไทย แต่งงานในไทย มีลูกหลานจบมหาวิทยาลัย ส่วนช่วงปี 2000 เป็นกลุ่มที่มาทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งอาศัยอยู่แบบถูกกฎหมาย เพราะการทำธุรกิจต้องมีการจดทะเบียน

ชาวจีนอพยพใหม่กลุ่มแรกที่เข้ามาช่วงปี 1980 คนเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน พอจีนเปิดประเทศก็อยากแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเพราะอยู่ในจีนหากินยากลำบาก เมื่อเห็นว่าเมืองไทยเปิดกว้างและอยู่ใกล้ที่สุด ประกอบกับมีเงินจำกัดก็พากันมาไทย ส่วนใหญ่มาแบบลักลอบเข้าเมือง ถ้ามีเงินมากก็ไปยุโรป

การทำมาหากินของชาวจีนอพยพใหม่ พวกที่เข้ามาเป็นแรงงานโดยมากเป็นแรงงานทักษะต่างจากแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง พม่า ลาว แรงงานจีนส่วนใหญ่มีทักษะ กลุ่มนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในบางด้าน เช่น มาทดแทนแรงงานที่ขาดหายไปตั้งแต่แรงงานไทยแห่ออกไปทำงานต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง

ตัวอย่างเคสหนึ่งของจีนอพยพใหม่กลุ่มแรก...หญิงจีนคนหนึ่งเดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ โดยตีตั๋วเดินทางเที่ยวเดียวมาตายเอาดาบหน้า พอมาถึงไทยปุ๊บ สต๊าฟทัวร์ก็พาเธอและเพื่อนไม่กี่คนไปทิ้งที่จุดหนึ่งของกรุงเทพฯ (ซึ่งชาวจีนพวกนี้ได้คุยตกลงกับกรุ๊ปทัวร์ขอร่วมเดินทางมาด้วยเป็นช่องทางลักลอบเข้าเมือง) เมื่อแยกตัวออกจากกรุ๊ปทัวร์หญิงจีนผู้นี้เดินไปตามถนนอย่างไม่มีจุดหมาย จนมาเห็นคนไทยกลุ่มหนึ่งกำลังคุ้ยขยะ ก็เข้าไปถามโดยใช้ภาษาใบ้เพราะพูดไทยไม่ได้เลย และเธอได้รู้ว่าคนไทยที่มาคุ้ยขยะนั้นหาสิ่งของที่จะเอาไปขายได้ จากนั้นมาเธอคุ้ยขยะเก็บขยะไปขายจนเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ วันหนึ่งมีชายจีนลักลอบเข้าเมืองแบบเดียวกับเธอ เขาถูกนำมาหย่อนลงในเมือง และมาเจอกับสาวจีนผู้นี้ สาวจีนที่มาอยู่ก่อนก็แนะนำให้เขาเก็บขยะขายเลี้ยงชีพ ไม่นานก็แต่งงานกันช่วยกันทำมาหากินจนกระทั่งสามารถซื้อรถซาเล้งทำให้เก็บของเก่าได้มากขึ้นสบายขึ้นจนมีลูก เลี้ยงลูกบนซาเล้ง ส่งเสียลูก 2-3 คนจนจบมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของกิจการรับซื้อของเก่า นี่คือความเก่งของคนจีน มานะเก็บสะสมเงินสร้างตัวจนเป็นผู้ประกอบการมีฐานะร่ำรวย

อีกเคสหนึ่งมาจากเกาะไหหลำ มากันราว 12-20 คน นั่งเรือมากวางตุ้ง จากกวางตุ้งนั่งรถบัสตะลอนๆ เป็นเดือนๆ มาถึงชายแดนยูนนานจากนั้นเดินเท้ามาเป็นแรมเดือนหลบเจ้าหน้าที่ลัดเลาะป่าเขาเข้าพม่ามาถึงแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมเวลาเดินทางหลายเดือนกว่าจะมาถึงไทย...

เมื่อถามว่า “แล้วคุณเริ่มต้นชีวิตอย่างไร เขาตอบง่ายมากว่าที่เชียงรายมีร้านค้าของคนเชื้อสายจีน ร้านไหนมีป้ายชื่อร้านภาษาจีน เจ้าของร้านน่าจะพูดจีนได้ก็เข้าไปขอทำงานด้วย ชาวจีนอพยพคนนี้เก่งด้านการเดินสายไฟก็เป็นช่าง เมื่ออยู่ไปๆ จนคุ้นเคยรู้ช่องทางเจนจัดเมืองไทยก็เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ

ชาวจีนอพยพพวกนี้อยู่อย่างผิดกฎหมายแต่เป็นแรงงานทักษะ ผมเจอตัวอย่างทำนองนี้มากพอสมควร ทำให้เห็นภาพว่ามีคนจีนอพยพ 2 กลุ่ม กลุ่มที่เข้ามาใหม่ๆ จะดิ้นรนปากกัดตีนถีบ ส่วนกลุ่มที่เข้ามาช่วงปี 2000 พวกนี้มีเงิน ช่วงนั้นจีนเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอ คนเหล่านี้รู้ดีว่าธุรกิจประเภทไหนที่กฎขององค์การการค้าโลกอนุญาตให้ทำได้ พวกนี้ก็เลยอพยพมากัน

“กลุ่มจีนสีเทา” กับปัญหานอมินี

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล : “จะเห็นได้ว่าพวกจีนอพยพปากกัดตีนถีบหลบหนีเข้าเมืองสร้างเนื้อสร้างตัวมีฐานะยืนอยู่บนขาตัวเองได้ คุณลองสังเกตดูว่าคนพวกนี้เค้า “สีเทา” แบบไหน...สีเทา คือการผสมสีดำกับสีขาว สีดำคืออยู่อย่างผิดกฎหมาย สีขาวคือทำอาชีพที่สุจริต”

“กลุ่มจีนสีเทา” อีกประเภทหนึ่ง ตัวอย่างเช่น “ตู้ห่าว” คนพวกนี้เข้ามาอยู่อย่างถูกกฎหมายแถมได้สัญชาติไทย สร้างคอนเน็กชัน เป็นหลานเขยนักการเมืองใหญ่ “ตู้ห่าว” อยู่อย่างถูกกฎหมายแต่ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย กลุ่มจีนสีเทาประเภทนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยร้ายแรงมาก

เมื่อประมวลภาพของชาวจีนอพยพใหม่ทั้งหมดแล้วสรุปได้ว่า ปัญหาชาวจีนอพยพใหม่มี 2 ด้าน ด้านแรกเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ หลายคนมีฐานะดีเข้ามาเมืองไทย อาศัยช่องทางกฎหมายเปิดช่องให้ว่าจ้างคนไทยเป็นนอมินีในการเปิดธุรกิจบางอย่างที่กฎหมายห้ามคนต่างชาติลงทุนเกิน 49 เปอร์เซ็นต์ คนจีนพวกนี้ก็จ้างคนไทยเป็นนอมินีให้ช่วยถือหุ้นอีก 51 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่น่าเสียใจคือฝ่ายคนจีนคิดทุจริตตั้งแต่ต้นทำผิดกฎหมายเพราะเป็นเจ้าของทุน 100 เปอร์เซ็นต์

มาดูเรื่องที่น่าเสียใจอีกด้านหนึ่ง คือคนไทยก็ยอมเป็นนอมินี ได้เงินว่าจ้างเป็นนอมินีก้อนหนึ่ง หลังจากนั้นผู้ประกอบการจีนยังจ้างคนไทยเป็นผู้จัดการเงินเดือน 7-8 หมื่น ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่สามารถจ่ายให้ได้ นี่คือแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยยอมเป็นนอมินี ในที่สุดก็เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” คนจีนมีเงินมหาศาลขนาดไหนถ้าคนไทยไม่ยอมเป็นนอมินีให้ก็ทำธุรกิจบางอย่างไม่ได้เพราะกฎหมายจำกัดเรื่องสัดส่วนถือหุ้น ขณะเดียวกัน ถ้าคนไทยไม่ยอมเป็นนอมินีคนจีนก็ทำไม่ได้ ก็หมายความว่าฝ่ายไทยก็เป็นปัญหาเช่นกัน

กรุงเทพฯ หนึ่งในสวรรค์แหล่งทำมาหากิน ลงทุน และซื้อบ้านคอนโดมิเนียมของชาวจีนอพยพใหม่ที่ทยอยเข้ามาจากช่วงทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน ภาพปี 2023 (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
ปรากฏการณ์คนจีนซื้อบ้านซื้อคอนโดฯ บ้าน และที่ดินในไทย

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล : กฎหมายไทยห้ามคนจีนซื้อบ้านเดี่ยว บ้านทาวน์เฮาส์ ซื้อได้แต่เฉพาะคอนโดมิเนียม ในโครงการคอนโดฯ หนึ่งๆ ชาวต่างชาติซื้อได้ไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ สมมติโครงการมี 100 ห้อง กลุ่มคนไทยซื้อได้ 51 ห้อง กลุ่มชาวจีนซื้อได้ 49 ห้อง

ส่วนพวกที่ซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์กันได้นั้นใช้วิธีการซิกแซ็กโดยให้คนไทยเป็นนอมินี

ในการวิจัยยังพบเคสซื้อที่ดิน ชาวจีนไปจ้างหญิงไทยเป็นนอมินีด้วยการแต่งงาน 3-5 หมื่นบาท พอจดทะเบียนสมรส สามีเทียมคนจีนก็เอาเงินมาให้ผู้หญิงไปกว้านซื้อที่ดิน คนจีนเป็นผู้บริหารที่ดินเ อาที่ดินไปทำอะไรก็แล้วแต่...

อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากลัว คือ คนจีนที่เข้ามาก็รู้ว่าอะไรผิดกฎหมายถูกกฎหมาย แต่ไปทำคอนเน็กชันกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าชาวบ้านเป็นนอมินีก็เป็นเรื่องแย่อยู่แล้ว ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจนี่ยิ่งน่ากลัวกว่า เจ้าหน้าที่รัฐมาทำผิดกฎหมายเสียเอง เรื่องคนจีนที่เข้ามาสร้างคอนเน็กชันกับเจ้าหน้าที่รัฐนี้มีทั้งรายเล็กรายใหญ่ ยัดเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่รัฐ...อย่างกรณี ตู้ห่าว เป็นรายใหญ่ ซื้อบ้านเป็นสิบๆ หลัง เรื่องนี้ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ร่วมมือก็ไม่มีทางทำได้ ที่น่ากลัวมากก็คือ ต่อไปจะเกิดกรณีแบบ “ตู้ห่าว” มากขึ้น คือกลุ่มที่อยู่อย่างถูกกฎหมายแต่ทำอาชีพไม่สุจริตออกไปทางอาชญากรรม

ฉะนั้นเมื่อพูดถึง “คนจีนสีเทา” ต้องเข้าใจบริบทที่กล่าวมานี้ และที่สำคัญยังต้องเข้าใจบริทสังคมจีนว่าอะไรเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวจีนอพยพใหม่ออกนอกประเทศมาใช้ชีวิตในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในงานวิจัยได้เขียนถึงประเด็นคนจีนซื้อคอนโดฯ บ้านเดี่ยว-ทาวเฮาส์-ที่ดินโดยใช้นอมินี ผู้ที่ติดตามเรื่องภายในจีนจะรู้ว่าในประเทศจีนประชาชนไม่สามารถซื้ออสังหาฯ หรือที่ดินได้ ซื้อได้แค่กรรมสิทธิ์ใช้ประโยชน์ นานสุด 99 ปี เพราะฉะนั้นชาวจีนจำนวนมากมีความรู้สึกที่เราเรียกมันว่า “ขาดความมั่นคงทางจิตใจด้านที่อยู่อาศัย” ชาวจีนแม้มีฐานะร่ำรวยระดับแจ๊ค หม่า มีกำลังซื้อบ้านคฤหาสน์ใหญ่โตพวกเขาก็คิดอยู่ทุกวันทุกคืนว่าจะอาศัยอยู่ในบ้านหลัวงนี้ได้ 99 ปี ขณะที่ในประเทศไทยที่มีกฎหมายต่างจากจีน เมื่อซื้อบ้านคุณก็จะเป็นเจ้าของบ้านไปตลอดชาติ เพราะฉะนั้นเมืองไทยสามารถชดเชยความมั่นคงทางจิตใจด้านนี้ให้ชาวจีนอพยพยใหม่ได้

ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งที่ไปทำงานเมืองจีนเล่าให้คนจีนฟังเกี่ยวกับการซื้อและเป็นเจ้าของบ้านในไทย คนจีนไม่เชื่อเถียงว่าเป็นไปไม่ได้ ขนาดที่เมืองจีนยังเป็นเจ้าของบ้านได้นานสุด 99 ปี เมืองไทยจะครอบครองบ้านไปตลอดชาติได้อย่างไร จนมีชาวจีนอีกคนมายืนยันถึงจะเชื่อ เรื่องการเป็นเจ้าของบ้านตลอดชีวิตถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นของคนจีน ชาวจีนคนนั้นถึงกับรวบรวมเงินมาซื้อบ้านที่เมืองไทย

ขอเพิ่มเติมเรื่องนอมินี การเป็นนอมินี มีผลทางนิตินัย คนจีนจ้างคนไทยเป็นนอมินี หมายถึงชื่อหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ชื่อเจ้าของบ้านเป็นชื่อคนไทย เมื่อถามว่าถ้าวันหนึ่งคนจีนตายไป ขณะที่ชื่อในเอกสารกรรมสิทธิ์ต่างๆ เป็นชื่อคนไทย ลูกหลานคนไทยจะมาอ้างสิทธิไหม ไม่กลัวคนไทยโกงหรือ พวกเขาไม่กลัว เขาติดอยู่ที่เรื่องสูญเสียความมั่นคงด้านจิตใจด้านที่อยู่อาศัย เมื่อมาอยู่เมืองไทยแล้วขอแค่ได้เป็นเจ้าของบ้านตลอดชาติ เป็นการชดเชย มีเคสคนไทยคนหนึ่งเป็นนอมินี คนจีนที่ว่าจ้างให้เขาเป็นนอมินีได้กลับไปเล่าให้เพื่อนที่จีนฟัง ก็มีคนจีนนับสิบคนเข้ามาขอให้เขาเป็นนอมินี...

ในประเด็นเรื่องสีเทาต้องเข้าใจมิตินี้ว่ามันมีแรงผลักดันให้เกิด “ภาวะสีเทา” นั่นคือคนไทยร่วมมือด้วย อย่างที่ว่า “ต้องตบมือสองข้างถึงจะดัง” ฉะนั้น ผมถึงบอกว่าน่าเสียใจคือคนไทยไปตบมือด้วยถึงดังสนั่นขึ้นมาเช่นนี้ ที่น่ากลัวคือเจ้าหน้าที่รัฐไปร่วมมือช่วยด้วยให้เกิด “ภาวะสีเทา” นี้

การปรับตัวของชาวจีนอพยพใหม่ในสังคมไทย

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล : อีกประเด็นหนึ่ง...ชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในไทยกลุ่มหนึ่งมีความคิดแบบคนจีนดั้งเดิมที่ตั้งคำถามกับกลุ่มคนไทยที่เลิกงานแล้วก็ไปกินดื่มกัน ทำไมไม่ขยันทำมาหากิน ซึ่งความคิดแบบนี้เป็นมาตั้งแต่ยุคชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต

ที่น่าทึ่งคือมีคนจีนแบบที่สอง ตอนแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ในไทยก็มีความคิดแบบคนจีนกลุ่มแรก มองคนไทยขี้เกียจ พออยู่ไปหลายปีพบว่าจริงๆ ชีวิตที่ถูกต้องควรเป็นชีวิตแบบที่คนไทยใช้อยู่...พวกเขาตั้งคำถามกับตัวเองทำไมต้องดิ้นรนหาเงินแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ทำไมไม่ใช้ชีวิตสบายๆ แบบคนไทย คนจีนกลุ่มนี้ก็ปรับตัวเมื่อทำงานไปการลงทุนอยู่ตัวแล้ว ถ้าคิดแบบเป็นคนจีนสมัยก่อนจะขยายกิจการไปเรื่อยๆ แต่กลุ่มนี้กลับบอกพอแล้ว เอาเวลาที่เหลือไปพักผ่อน ใช้ชีวิตมีความสุขไม่ต้องดิ้นรนแข่งขัน

พวกเขาเล่าว่าความรู้สึกนึกคิดที่ต้องขยันขันแข็งหาเงินกอบโกยให้ได้มากที่สุดเพราะในสังคมจีนมีการแข่งขันสูง พอมาเมืองไทยไม่มีคู่แข่งก็ยิ่งเห็นช่องทางทำมาหากินสะสมเงินทองให้มากที่สุด แต่ไปๆ มาๆ เมื่อเห็นชีวิตคนไทยที่แตกต่างออกไป ทัศนคติคนจีนกลุ่มนี้ก็เปลี่ยนไปไม่คิดว่าคนไทยขี้เกียจ แต่คิดว่าที่คนไทยเป็นแบบนี้เพราะว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ใช้ชีวิตสบายๆ ได้ ไม่ต้องดิ้นรน มีงานทำไม่อดตาย เมื่อซื้อบ้านก็ได้เป็นเจ้าของบ้านไปตลอดชาติ ไม่ต้องคิดเรื่อง 99 ปี.


กำลังโหลดความคิดเห็น