เหตุการณ์เครื่องบินขับไล่รัสเซียถูกกล่าวหาชนอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนลาดตระเวนของสหรัฐฯ ตกในทะเลดำ กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก จนวิตกกันว่าชาติมหาอำนาจทั้งสอง ซึ่งยืนอยู่คนละข้างในสงครามยูเครนจะฮึ่มเข้าหากันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์จีน เหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่บานปลาย เพราะทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างก็ไม่ต้องการให้เรื่องเลยเถิดจนควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่ควรวิตกกังวลคือโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามระดับความถี่และความก้าวร้าวในการลาดตระเวนสอดแนมของสหรัฐฯ ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้
จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เพนตากอนอ้างเมื่อวันอังคาร (14 มี.ค.) ว่า เครื่องบินขับไล่ซู-27 ของรัสเซีย 2 ลำ เข้าสกัดโดรนเอ็มคิว-9 รีเปอร์ ในเขตน่านฟ้าสากล จากนั้น ซู-27 ลำหนึ่งได้ชนโดรนสอดแนมของสหรัฐฯ ตกในทะเลดำ
รอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกมาปฏิเสธเครื่องบินรัสเซียเฉี่ยวชนโดรนสหรัฐฯ รัสเซียระบุว่า โดรนได้หักหลบกะทันหันจึงโหม่งทะเลดำเอง รัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า โดรนลำนี้ถูกตรวจพบใกล้คาบสมุทรไครเมีย และรัสเซียได้แจ้งมาก่อนหน้าแล้วว่า น่านฟ้าบริเวณนี้ถูกกำหนดให้เป็นเขตปฏิบัติการพิเศษทางทหาร
ตั้งแต่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนเริ่มขึ้นในปี 2565 นี่เป็นครั้งแรกที่เครื่องบินทหารของรัสเซียกับสหรัฐฯ บินเฉี่ยวกัน นักวิเคราะห์ระบุว่า การปรากฏตัวของโดรนสหรัฐฯ ในทะเลดำเป็นเครื่องแสดงชัดเจนว่ากองทัพสหรัฐฯ พัวพันล้ำลึกในวิกฤตการณ์ และมีการใช้โดรนสืบข่าวกรองบ่อยๆ ความเสี่ยงที่เครื่องบินรบของสหรัฐฯ กับรัสเซียจะเผชิญหน้ากันจึงย่อมเพิ่มขึ้น
นายซ่ง จงผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและผู้บรรยายรายการโทรทัศน์ของจีนระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เครื่องบินขับไล่รัสเซีย ทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้การรบกวนด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้โดรนสหรัฐฯ สูญเสียการควบคุมจนโปรแกรมทำลายตัวเองถูกเปิดใช้งาน รัสเซียบอกแล้วว่า นี่คือเขตปฏิบัติการพิเศษทางทหาร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการสกัดกั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เป็นการหยั่งเชิงระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียเพื่อดูว่า ผลสุดท้ายจะออกมาในรูปไหน จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะรู้กันเองโดยปริยายว่า จะบินและจะสกัดอย่างไรในสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน
นักวิเคราะห์เตือนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เน้นเด่นชัดถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้างความแข็งแกร่งด้านข่าวกรองโดยใช้โดรนเก็บข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามสอดแนมชาติที่สหรัฐฯ เห็นเป็นศัตรู จึงอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันโดยตรงและการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพในโลก
“ความริเริ่มในการตรวจสอบสถานการณ์เชิงยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้” (South China Sea Strategic Situation Probing Initiative) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงปักกิ่งตรวจสอบพบว่า สหรัฐฯ ส่งโดรนมาป้วนเปี้ยนสอดแนมจีนอย่างใกล้ชิดบ่อยครั้งในย่านทะเลจีนใต้ รวมทั้งโดรนเอ็มคิว-4ซี ซึ่งมีเพดานบินสูงและระยะทำการนาน
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแบบเดียวกับที่เพิ่งเกิดในทะเลดำ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากสหรัฐฯ พยายามยั่วยุและคุกคามความมั่นคงของจีน กองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็มีมาตรการตอบโต้อย่างช่ำชอง ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม การตรวจสอบ การประกบ และการขับไล่
ทั้งนี้ ก่อนหน้าเหตุการณ์โดรนสหรัฐฯ ตกทะเลดำ สหรัฐฯ เพิ่งส่งเครื่องบินขับไล่ยิงบอลลูนของจีน ที่พลัดหลงเข้าไปในเขตน่านฟ้าสหรัฐฯ ตกเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่า เป็นบอลลูนสอดแนม ทำให้โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนออกมาแถลงว่า จีนขอสงวนสิทธิใช้มาตรการที่จำเป็นในการจัดการกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นแบบเดียวกันนี้บ้าง
ข้อมูล : โกลบอลไทมส์