เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ - นักวิเคราะห์คาด โครงการริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีนมีแนวโน้มทำโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการค้าที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม ความเสี่ยงน้อยลง แต่สร้างกำไรมากขึ้น
บรรดานักวิเคราะห์ ซึ่งรวมทั้งนายนิก มาร์โร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของดิ อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต คาดการณ์ดังกล่าว หลังจากโครงการขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งภายใต้ “เบลต์แอนด์โรด” ได้ก่อปัญหาหนี้สิน การคาดการณ์ยังสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน และหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเริ่มออกมาพูดถึงการทำโครงการที่มี “ขนาดเล็กแต่สวย” ในด้านต่างๆ เช่น ดิจิทัล เกษตรกรรม สาธารณสุข และการลดความยากจน
ในความเห็นของนายเนาบาฮาร์ ชารีฟ อาจารย์และรักษาการหัวหน้าแผนกนโยบายสาธารณะ ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง มีความเป็นไปได้ที่บริษัทเอกชน หรือบริษัทของรัฐระดับท้องถิ่นของจีน รวมทั้งฮ่องกง และมาเก๊า จะเข้ามาเป็นผู้นำในการทำโครงการขนาดเล็ก ซึ่งจะก่อหนี้สินเล็กน้อย เปิดโอกาสให้ภาคส่วนเหล่านี้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นใน “เบลต์แอนด์โรด”
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เปิดตัว “เบลต์แอนด์โรด” เมื่อปี 2556 เพื่อขยายการเชื่อมโยงการค้าของจีนกับนานาชาติ โดยปัจจุบันมีชาติเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 151 ชาติ
จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์จีน นับตั้งแต่ปี 2556-2565 จีนมีปริมาณการค้าสินค้ากับชาติที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นสูงเกือบ 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การลงทุน 2 ฝ่ายพุ่งสูงถึง 2 แสน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปี 2564
อย่างไรก็ตาม “เบลต์แอนด์โรด” ถูกโจมตีว่า ทำให้ชาติยากจนเป็นลูกหนี้จีน โดยจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์นั้น เฉพาะแค่ผู้ปล่อยกู้ของจีน 2 รายคือ เอ็กซิมแบงก์ และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีน ได้พักการชำระหนี้ให้ 23 ชาติ ซึ่งรวมทั้ง 16 ชาติในแอฟริกา เป็นจำนวนกว่า 1 พัน 3 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้โครงการบรรเทาทุกข์จากโควิด-19 ระบาดของชาติจี20
มีการกล่าวหาโครงการริเริ่มนี้ว่า เป็นการสร้างกับดักหนี้ด้วยชั้นเชิงทางการทูต แต่จีนปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง นักวิเคราะห์เชื่อว่า ประธานาธิบดีสี จะหาทางแก้ไขเรื่องนี้ มิเช่นนั้น “เบลต์แอนด์โรด” จะเสื่อมเสียชื่อเสียง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจีน
โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นจุดเด่นของ “เบลต์แอนด์โรด” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็สร้างความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองตามมา โครงการขนาดใหญ่อาจกลายเป็นการก่อหนี้ที่สร้างความฮือฮาแทนการบริหารความเสี่ยง จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ควรหันมาทำโครงการ “เล็กแต่สวย” เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก หรือการสร้างแพลตฟอร์มหนึ่งขึ้นมาเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหลายหมื่นรายให้รู้จักวิธีการชำระเงินที่เป็นมาตรฐาน การควบคุมคุณภาพ และบริการหลังการขาย โดยมีจุดมุ่งหมายคือการส่งเสริมการค้า นอกจากนั้น การท่องเที่ยวจะเป็นอีกหนึ่งภาคเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนของ “เบลต์แอนด์โรด” นี้ด้วย