สมมุติว่าจีนใช้กำลังทหารบุกไต้หวันจริง สิ่งหนึ่งที่เราอาจได้เห็นนั่นก็คือ โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์บนเกาะมังกรน้อยทั้งหมดจะถูกสหรัฐฯ ระเบิดทำลายย่อยยับเหลือแต่ซาก ก่อนกองทัพพญามังกรเข้ายึดเบ็ดเสร็จ
แนวคิดดังกล่าวเคยมีผู้หยิบยกขึ้นมาพูดบ้างแล้ว แต่ถูกตอกย้ำล่าสุดโดยบุคคลระดับอดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติมะกัน
นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวกับเว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) ว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรไม่มีวันปล่อยให้โรงงานเหล่านั้นตกอยู่ในกำมือของจีน
บนเกาะไต้หวันเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน (ทีเอสเอ็มซี) ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างผลิตชิปรายใหญ่สุดในโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 90 โดยผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ นอกจากนั้น ชิปขั้นสูงของทีเอสเอ็มซียังนำมาใช้สำหรับเทคโนโลยีก้าวล้ำหน้า เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และขีปนาวุธนำวิถี
นายโอไบรอัน ชี้ว่า หากจีนสามารถยึดโรงงานของทีเอสเอ็มซีทั้งหมด จีนก็ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปกกลุ่มใหม่ แต่เป็นโอเปกแห่งชิปซิลิคอน และจะสามารถควบคุมเศรษฐกิจโลกได้เลย
เขาเปรียบเทียบแผนการของสหรัฐฯ ในการทำลายโรงงานเอสเอ็มซีว่า เหมือนเมื่อคราวนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ของอังกฤษ สั่งทำลายกองเรือของฝรั่งเศส ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 หลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้แก่เยอรมนี
บริษัทแอปเปิลผู้ผลิตเครื่องไอโฟนเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของทีเอสเอ็มซี โดยชิปประมวลผลสำหรับสมาร์ทโฟน จำนวน 1,400 ล้านชิ้นในโลกมีทีเอสเอ็มซีเป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ และมีรายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์ราวร้อยละ 60 ก็อาศัยชิปของบริษัทไต้หวันรายนี้
นายวิลเลียม อลัน ไรน์ช ที่ปรึกษาอาวุโสประจำศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (CSIS) ระบุกับบิสซิเนสอินไซเดอร์ว่า แม้การวิจัยและพัฒนามากมายเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์เกิดขึ้นในสหรัฐฯ แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทหลายรายตัดสินใจจ้างคนภายนอกผลิตแทน ซึ่งเป็นวิธีดีที่สุด เนื่องจากค่าแรงต่ำ แต่เก็บดีไซน์และไอพีไว้ รวมทั้งจำหน่ายและทำการตลาดเอง
นายโอไบรอัน มิใช่คนแรกที่พูดเกี่ยวกับแนวคิดการทำลายโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน นักวิชาการของสหรัฐฯ 2 คนก็เคยแนะนำให้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งปรากฏในรายงานตีพิมพ์โดยวิทยาลัยการสงครามของกองทัพบกสหรัฐฯ เมื่อปี 2564
ในรายงานระบุว่า สหรัฐฯ และไต้หวันควรวางแผนเสียแต่เริ่มต้นสำหรับกลยุทธ์ล็อกเป้าเผาปฐพีให้ไหม้เกรียม จนไต้หวันไม่เหลืออะไรให้ดึงดูดใจ เมื่อถูกกองทัพบุกยึด มีแต่จะเสียค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษา
“การขู่ทำลายโรงงานของทีเอสเอ็มซีอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทีเอสเอ็มซีเป็นผู้ผลิตชิปรายสำคัญที่สุดในโลกและเป็นซัปพลายเออร์สำคัญที่สุดสำหรับจีน ส่วนบริษัทซัมซุง ซึ่งมีฐานในเกาหลีใต้ (พันธมิตรของสหรัฐฯ) ก็เป็นตัวเลือกเดียวสำหรับการออกแบบที่ก้าวล้ำสมัย ” รายงานระบุ
อย่างไรก็ตาม นายเฉิน หมิง ตง ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวันเคยแย้งว่า สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องทำลายโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันในกรณีที่จีนยกทัพบุก เพราะระบบการผลิตชิปถูกบูรณาการหยั่งลึกในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกแล้ว สหรัฐฯ และชาติอื่นๆ จึงอาจหยุดการผลิตโดยไม่ต้องทำลายโรงงานก็ได้ ยกตัวอย่าง ทีเอสเอ็มซีจะผลิตชิปบางตัวไม่ได้ หากไม่ได้รับชิ้นส่วนจากเอเอสเอ็มแอล บริษัทซัปพลายเออร์สัญชาติดัตช์
“ถึงแม้จีนได้ไก่ทองคำไป แต่ก็ให้มันออกไข่มาเป็นทองไม่ได้” นายเฉิน กล่าว
ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันร้อนระอุมากขึ้นทุกที กระทั่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า จีนจะบุกไต้หวันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
หากจีนบุกไต้หวัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวงที่สุดเท่าที่เคยเห็นกันมา ตามความเห็นของนายเกลนน์ โอดอนเนล รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทวิจัยฟอร์เรสเตอร์
เขาเคยระบุกับบิสซิเนสอินไซเดอร์ว่า มันอาจเลวร้ายยิ่งกว่าคราวตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทล่มในปี 1929 ด้วยซ้ำ