เมื่อวันจันทร์ (6 มี.ค.) หนังสือพิมพ์ไชน่า ไซเอนซ์ เดลี (China Science Daily) ของจีน รายงานว่า คณะนักวิจัยชาวจีนได้ค้นพบยีนที่สามารถเพิ่มการต้านทานต่อโรคใบด่างเหลืองในข้าวสาลี ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลให้ผลผลิตข้าวสาลีเสียหายอย่างมาก
โรคใบด่างเหลืองในข้าวสาลี ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในจีน เกิดจากเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดในดิน หรือที่รู้จักกันว่าไวรัสใบด่างเหลืองในข้าวสาลี (WYMV) โดยวิธีการป้องกันโรคดังกล่าวที่ดีที่สุด คือ การปลูกข้าวสาลีสายพันธุ์ต้านทานโรค ฉะนั้นการค้นหาแหล่งยีนที่มีคุณสมบัติต้านไวรัสจึงมีความสำคัญยิ่ง
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์พืชไร่ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตรของจีน ใช้เทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม เพื่อสร้างวัสดุปรับแต่งข้าวสาลีโดยกำจัดยีนที่เป็นปัจจัยเริ่มต้นการแปรรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า TaelF4E และปลูกข้าวสาลีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์แบบหนึ่งเท่า สองเท่า และสามเท่า
งานวิจัยพบว่าหลังการติดเชื้อโรคใบด่างเหลืองในข้าวสาลี มีเพียงสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์สามเท่าที่สามารถต้านทานไวรัสได้อย่างสมบูรณ์และติดเมล็ด (seed setting) ได้อย่างปกติโดยไม่ทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์หนึ่งเท่า และสองเท่าแสดงให้เห็นการเจริญโตที่แคระแกร็นอย่างรุนแรง และมีอัตราการติดเมล็ดต่ำกว่า
งานวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่า TaelF4E เป็นยีนที่ไวต่อการติดเชื้อที่มีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อโรคใบด่างเหลืองในข้าวสาลี ซึ่งบ่งชี้ว่าการปรับแต่งจีโนมของยีนดังกล่าวในข้าวสาลีสายพันธุ์หลักสามารถเพิ่มการต้านทานต่อโรคใบด่างเหลืองในข้าวสาลีได้
อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารแพลนต์ ไบโอเทคโนโลยี (Plant Biotechnology Journal)