xs
xsm
sm
md
lg

นายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่มีบทบาทแค่ไหนภายใต้ "สี จิ้นผิง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายหลี่ เฉียง ขณะร่วมการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอังคารที่ 7 มี.ค.2566 - ภาพเอพี
จีนจะประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในการประชุมสองสภาวันเสาร์ (11 มี.ค.) และเป็นที่คาดหมายกันว่า นายหลี่ เฉียง บุคคลสำคัญอันดับ 2 ในโปลิตบูโรจะได้รับมอบหมายหน้าที่อันสำคัญนี้

หลี่จะต้องเข้าจัดการกับปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในโลก จากผลกระทบของโควิด-19 และปัญหาทางเศรษฐกิจอีกหลายเรื่อง เช่น ความต้องการสินค้าส่งออกที่อ่อนแอ สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า แรงงานหดตัว และสังคมผู้สูงอายุ

นักวิเคราะห์กำลังจับตามองว่า ระหว่างการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ในฐานะเจ้าหน้าที่สูงสุดด้านเศรษฐกิจ เขาจะสามารถนำเสนอนโยบายในทางปฏิบัติและลดการเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้บ้างหรือไม่

หลี่ วัย 63 ปี มีพื้นเพเป็นชาวมณฑลเจ้อเจียง ศึกษามาทางด้านเครื่องจักรกลการเกษตร และเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโทสำหรับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกงในปี 2546 เขามีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับสี เมื่ออีกฝ่ายได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลเจ้อเจียงระหว่างปี 2545-2550 ครั้นสีขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หน้าที่การงานของหลี่ ก็เจริญก้าวหน้าภายใต้เงาปีกของสี

หลี่ได้เป็นผู้ว่าการมณฑลเจ้อเจียงในปี 2556 อีก 3 ปีต่อมา ได้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นมณฑลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจชายฝั่งตะวันออก ต่อมาในปี 2560 ได้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของสี ก่อนก้าวสู่กลุ่มผู้นำระดับสูงสุดของจีน

เมื่อดูประวัติการทำงานของหลี่ เขามีนโยบายสนับสนุนบทบาทของภาคธุรกิจ โดยขณะเป็นผู้ว่าการมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เขายกเลิกกฎระเบียบขั้นตอนการทำงานของรัฐที่จุกจิกเกินไป และยกย่อง “แจ็ค หม่า” มหาเศรษฐีพันล้านธุรกิจอี-คอมเมิร์ซว่า เป็นทรัพยากรมีค่ามากที่สุดของมณฑล

ในปี 2561 เทสลาบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประกาศจะสร้างโรงงานผลิตแห่งแรกนอกสหรัฐฯ และเริ่มดำเนินโครงการในอีกครึ่งปีต่อมาด้วยการสนับสนุนของหลี่ บอสใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เซี่ยงไฮ้นครศูนย์กลางการค้า นับเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมดแห่งแรกในจีน

แต่หลี่ ก็ระมัดระวังไม่แตกแถวนโยบายระดับชาติ นี่เป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เขาเติบโตในหน้าที่การงาน

การทำงานของเขาใช่ว่าจะถูกใจรัฐบาลปักกิ่งไปทุกอย่าง นายเยิร์ก วุตต์เคอ ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปเล่าว่า หลี่เป็นผู้แนะนำให้ทำข้อตกลงผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ระหว่างบริษัทจีนกับยุโรป แต่รัฐบาลปักกิ่งไม่ชอบ ข้อตกลงจึงถูกระงับไปในที่สุด หรือการเข้ามาจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนในนครเซี่ยงไฮ้ และสั่งปิดเมืองอยู่นาน 2 เดือนเสียเองโดยรัฐบาลกลาง

การดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 3 ของสี ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติ และการแต่งตั้ง 7 อรหันต์ หรือคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ชุดใหม่ ซึ่งเป็นคณะบุคคลผู้มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดของจีน 7 คนเมื่อเดือน ต.ค.2565 โดยหลี่มีอาวุโสอันดับ 2 รองจากสี จิ้นผิง และคนอื่นๆ ล้วนเป็นคนใกล้ชิดของสีทั้งหมดนั้น ย่อมแสดงถึงฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของสี ในการกุมบังเหียนและการกำหนดทิศทางของประเทศจีน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (ขวา) นายหลี่ เฉียง (ซ้าย) ขณะร่วมการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอังคารที่ 7 มี.ค.2566 - ภาพเอพี
สีเคยประกาศว่า พรรคคอมมิวนิสต์ควรกลับมามีบทบาทเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการกลับคืนสู่ “ภารกิจที่มีมาแต่ดั้งเดิม” โดยช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ว่า ภาครัฐได้เข้ามาควบคุมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างเข้มงวดมากขึ้น มีการตรวจสอบเชิงรุกการทำงานของสื่อทีวีและวัฒนธรรม ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในหมู่ประชาชน รวมถึงการนำระบบ “การยกย่องในสังคม” (social credit system) มาใช้จัดระเบียบในสังคม

นักวิเคราะห์ระบุว่า หลี่ขาดประสบการณ์การทำงานในรัฐบาลระดับชาติ แตกต่างจากนายกรัฐมนตรีจีนส่วนใหญ่ที่ผ่านมา นอกจากนั้น ชื่อเสียงของเขามีรอยตำหนิจากมาตรการล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ แต่การถูกวางตัวเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความสามารถในการทำให้สีไว้วางใจได้เช่นกัน

ในมุมมองของนักวิเคราะห์หลายคน การพยายามรวบอำนาจการบริหารประเทศให้อยู่ในมือพรรคคอมมิวนิสต์ของสี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหลี่ จึงแทบไม่มีบทบาท ไอริส ผัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งไอเอ็นจี กรุ๊ป เชื่อว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว หลี่เป็นผู้บังคับใช้ปณิธานของสี อย่างภักดีมากกว่าจะมีอิทธิพลโน้มน้าว


แต่ด้วยความที่หลี่ เป็นคนสนิทของสี ทำให้มีนักวิเคราะห์บางคนมองตรงกันข้าม โดยเชื่อว่า สีย่อมให้ความไว้วางใจมากกว่าหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีคนก่อน ซึ่งถูกมองว่า เป็นคู่แข่งของสี มิใช่ผู้อยู่ในโอวาทและการอุปถัมภ์


“สี จิ้นผิง ไม่ต้องวิตกกังวลว่าหลี่ เฉียงจะเป็นอีกก๊วนอำนาจหนึ่ง”

“ความไว้วางใจระหว่างกันจะทำให้หลี่ เฉียงทำงานอย่างมั่นใจมากขึ้น และบอกข้อวิตกกังวลให้สี จิ้นผิงทราบ เขาจะเป็นผู้ให้ข้อมูลและคำแนะนำโดยตรงมากมายแก่สี จิ้นผิง” นายหัว ผิน นักหนังสือพิมพ์ผู้คร่ำวอด และนักสังเกตการณ์การเมืองของจีนระบุ


ข้อมูลจาก “Will China's next premier be a moderating influence on Xi?” ในเอพี



กำลังโหลดความคิดเห็น