สถาบันโบราณคดีเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน เปิดเผยการค้นพบคูน้ำป้องกันเมืองที่มีอายุย้อนไปราว 6,000 ปีก่อน ที่แหล่งโบราณคดีซูหยาง ในอำเภออี๋หยาง หลังจากเริ่มงานขุดค้นเมื่อต้นปี 2021
เริ่นกว่าง ผู้รับผิดชอบโครงการขุดค้น ระบุว่าคูน้ำรูปทรงครึ่งวงแหวนดังกล่าวถูกขุดด้วยฝีมือมนุษย์ โดยรูปทรงและโครงสร้างสะท้อนถึงศักยภาพการจัดระเบียบสังคมที่ทรงพลังและเป็นระเบียบ รวมถึงระดับเทคนิคในช่วงเวลานั้น
หากพิจารณาโบราณวัตถุที่ขุดพบและร่องรอยชั้นที่สะสมในคูน้ำป้องกันเมือง คณะนักโบราณคดีเชื่อว่าทางน้ำดังกล่าวมีอายุผ่านพ้นช่วงเวลา 3 สมัยของวัฒนธรรมหย่างเสา ซึ่งมีความเก่าแก่ราว 5,000-7,000 ปี
อย่างไรก็ดี คูน้ำอาจสูญเสียคุณสมบัติการป้องกันไปเมื่อถึงยุควัฒนธรรมหย่างเสาตอนปลาย เนื่องจากมีการพบบ้านเรือน หลุมขี้เถ้า ตลอดจนโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับการผลิตและที่อยู่อาศัยจากช่วงเวลานี้บริเวณริมฝั่งสองด้านของคูน้ำจำนวนมาก
เริ่นระบุว่า แถวเสาไม้ซึ่งอาจถูกใช้เพื่อป้องกันคูน้ำ บ่งชี้ว่าคนโบราณได้นำสิ่งอำนวยความสะดวกที่เลิกใช้งานไปแล้วกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังพบเครื่องปั้นดินเผา เครื่องหิน เครื่องหยก กระดูก และหอยแมลงภู่ รวมถึงซากข้าวโพดและข้าวฟ่างสภาพดีบริเวณดังกล่าวด้วย