เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2566 “ไชน่า เรเนสซองส์” วาณิชธนกิจชื่อดังของจีนประกาศว่า คณะกรรมการของบริษัทฯ ได้รับแจ้งว่า “เปา ฝาน” ประธานคณะกรรมการ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ อยู่ระหว่างให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของทางการจีน
คณะกรรมการย้ำว่า ธุรกิจและการดำเนินงานของกลุ่มยังคงดำเนินไปตามปกติ หากทางการจีนขอให้บริษัทให้ความร่วมมือตามกฎหมาย บริษัทก็จะให้ความร่วมมือด้วยดี ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ ยังคงรับผิดชอบการบริหารและการดำเนินงาน บริษัทจะยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการในเรื่องดังกล่าว และจะประกาศให้ทราบต่อไปในระยะเวลาอันควร
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2566 ไชน่า เรเนสซองส์ได้ประกาศต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงว่า บริษัทไม่สามารถติดต่อกับนายเปาได้ชั่วคราว
นายเปา ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค.2565 ในการเข้าร่วมพิธีมอบรางวัล Future Science Awards ประจำปี 2565 และมีความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566 โดยเป็นการแสดงความยินดีกับบริษัทในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
นักกฎหมายบางคนให้ความเห็นว่า ทางการจีนจะมีระยะเวลาควบคุมตัวที่แน่นอนหากนายเปา ให้ความร่วมมือกับการสอบสวนด้วยดี โดยปกติคือ 24 ชั่วโมง 3 วัน หรือ 7 วัน และนานที่สุดคือ 37 วัน หากพ้นกำหนดเวลานี้ (สิ้นเดือน มี.ค.2566) และยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม ก็อาจจะหมายความว่าเขาถูกอนุมัติการจับกุมแล้ว
เปิดแฟ้มประวัติผู้บริหารมือทองแห่งอาณาจักรไชน่า เรเนสซองส์
นายเปาเกิดในครอบครัวนักการทูตในเซี่ยงไฮ้ ปู่ของเขาเป็นผู้บริหารของธนาคารแห่งเซี่ยงไฮ้ หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย นายเปา เข้าทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ของธนาคารเพื่อการลงทุน “มอร์แกน สแตนลีย์” (Morgan Stanley) วาณิชธนกิจระดับโลกของสหรัฐฯ จากนั้นเขาย้ายไปที่บริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์โซลูชันด้านโทรคมนาคม “AsiaInfo Technology” ในตำแหน่งหัวหน้านักยุทธศาสตร์ (Chief Strategy Officer) หลังจากที่ AsiaInfo ประสบความสำเร็จในการจดทะเบียนในปี 2548 นายเปา ก็ลาออกไปก่อตั้งไชน่า เรเนสซองส์
ในฐานะผู้นำของไชน่า เรเนสซองส์ อาจกล่าวได้ว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของเขาคือ "เส้นสาย" ซึ่งนายเปาเคยกล่าวต่อสาธารณชนว่า สังคมก็เปรียบเสมือนยุทธภพ และสัมพันธภาพระหว่างกันเป็นพื้นฐานของความร่วมมือ สิ่งที่เขาได้รับล้วนมาจากการลงทุนในผู้คน “เพื่อนและความสัมพันธ์ทำให้ไชน่า เรเนสซองส์เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”
เมื่อปี 2558 นายเปาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 50 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกโดย Bloomberg Markets
ในอดีต นายเปา เคยนำไชน่า เรเนสซองส์ทำธุรกรรมมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ในสาขาเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการควบรวมกิจการ และการจัดหาเงินทุนภาคเอกชน และทำให้ไชน่า เรเนสซองส์กลายเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศที่ให้บริการสาขาเศรษฐกิจกระแสใหม่
ในปี 2558 ไชน่า เรเนสซองส์มีบทบาทในการควบรวมและซื้อกิจการหลายรายการ ท่ามกลางกระแสการควบรวมและการจัดหาเงินทุนของบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงการควบรวมกิจการของ “ตีตี” (Didi) “ไคว่ตี” (Kuaidi) “58.com” และ “กานจี” (Ganji) “เหม่ยถวน” (Meituan) และ “เตี่ยนผิง” (Dianping) จนได้รับฉายา “ราชาแห่งแห่งการควบรวมกิจการ”
ณ สิ้นปี 2560 ในบรรดากลุ่มบริษัทแนวหน้าในสาขาเศรษฐกิจกระแสใหม่ของจีน 20 แห่ง เป็นลูกค้าของไชน่า เรเนสซองส์ไปแล้วรวม 15 บริษัท และมูลค่าตลาดของลูกค้าที่เป็น “ยูนิคอร์น” คิดเป็นร้อยละ 56 ของมูลค่าตลาดรวมของยูนิคอร์นในจีน
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2561 ไชน่า เรเนสซองส์ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการบนกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง นายเปาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของสื่อมวลชนในวันที่จดทะเบียนว่า "เศรษฐกิจกระแสใหม่เป็นกระบวนการจำลองโลกดิจิทัล โดยพื้นฐานแล้ว ผมคิดว่าโลกทางกายภาพจะต้องเปลี่ยนเป็นดิจิทัลในอนาคต และอุตสาหกรรมนี้จะมีศักยภาพมหาศาลในอนาคต"
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2565 นายเปาได้เพิ่มการถือครองหุ้นในไชน่า เรเนสซองส์ จำนวน 108,000 หุ้น ซึ่งคิดเป็นทุน 672,700 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3 ล้านล้านบาท) ทำให้นายเปามีหุ้นในบริษัทฯ จำนวน 277 ล้านหุ้น และสัดส่วนการถือหุ้นของเขาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.81
นอกจากธุรกิจวาณิชธนกิจที่มีชื่อเสียงแล้ว ไชน่า เรเนสซองส์ยังมีธุรกิจหลักอีก 2 ธุรกิจ ได้แก่ บริษัทการจัดการการลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์ Huajing โดยกองทุน Huaxing New Economy เน้นการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจกระแสใหม่ เช่น ตีตี และเหม่ยถวน รวมถึงเทคโนโลยี AI และยานยนต์อัจฉริยะ
เบื้องหลังนายใหญ่อาณาจักรไชน่า เรเนสซองส์หายตัว
นับตั้งแต่มีการเปิดเผยว่า นายเปาหายตัวไป ราคาหุ้นของไชน่า เรเนสซองส์ก็ลดลงเกือบร้อยละ 30
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2559 ถึง 1 ก.ค.2563 นายเปาเคยดำรงตำแหน่งประธานบริษัทของ Huaxing Securities ซึ่งอยู่ภายใต้เครือไชน่า เรเนสซองส์ ก่อนจะก้าวลงจากตำแหน่งและดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทมาจนปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ผู้มีอำนาจควบคุม Huaxing Securities ที่แท้จริงก็คือนายเปานั่นเอง
หลังจากนายเปา ก้าวลงจากตำแหน่ง นายชง หลิน ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานแทน อย่างไรก็ดี นายชงถูกทางการจีนคุมตัวไปสอบสวนเมื่อเดือน ก.ย.2565
ในปัจจุบัน Huaxing Securities ระบุว่า นายเซี่ยง เวย ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทได้ทำหน้าที่รักษาการแทนประธานของบริษัท และกิจการได้ดำเนินการไปตามปกติ
เมื่อไม่นานมานี้ Huaxing Securities ได้มีการปรับเปลี่ยนระดับผู้บริหารครั้งใหญ่ โดยมีกรรมการลาออก 3 คน กรรมการผู้ตรวจการลาออก 1 คน และผู้บริหารระดับสูงลาออก 1 คน ในขณะที่มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ 5 คน รวมถึงแต่งตั้งกรรมการผู้ตรวจการและผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการเงินคนใหม่
สื่อบางแห่งคาดว่าการหายตัวไปของนายเปาอาจเกี่ยวข้องกับนายชง ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนคาดว่านายชง อาจเคยทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจเช่าเรือมาก่อน และนายเปาอาจไปเพื่อให้ความร่วมมือในการสืบสวน อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงยังคงต้องรอการเปิดเผยอย่างเป็นทางการของทางการจีนต่อไป
เปิดรายชื่อมหาเศรษฐีแนวหน้าจีนเคย “โดนเชือด” ในอดีต
เมื่อเดือน ต.ค.2565 “แจ๊ค หม่า” ผู้ก่อตั้ง “อาลีบาบา” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์กล่าวสุนทรพจน์วิจารณ์ระบบการกำกับดูแลทางการเงินของจีนต่อสาธารณะที่ Bund Financial Summit ในเซี่ยงไฮ้ ต่อมา การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) มูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ของบริษัทแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ภายใต้ธงอาลีบาบาในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงถูกยกเลิกในนาทีสุดท้าย ตั้งแต่นั้นมา หม่าก็ไม่ปรากฏตัวหรือพูดในที่สาธารณะอีกเลย หน่วยงานกำกับดูแลได้สอบสวนผู้บริหารของ Ant Group หลายครั้งและประกาศสืบสวนเพื่อต่อต้านการผูกขาดของ Alibaba Group
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 27 ม.ค.2561 นายเซียว เจี้ยนหัว นักธุรกิจลูกครึ่งจีน-แคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในชายที่ร่ำรวยที่สุดของจีน เจ้าของทรัพย์สินประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ (ราว 2 แสนล้านบาท) ถูกคุมตัวออกจากห้องพักโรงแรม Four Seasons Hotel ในฮ่องกง โดยถูกคลุมศีรษะด้วยผ้า ซึ่งต่อมาบริษัทของเขาออกประกาศว่านายเซียว กำลังรักษาอาการป่วยในต่างประเทศ จนกระทั่งเดือน ก.ค.2563 บริษัทของเขาได้ยืนยันเป็นครั้งแรกว่านายเซียวอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ และกำลังร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อจัดระเบียบกลุ่มบริษัทใหม่ ต่อมา หน่วยงานกำกับดูแลของจีน 2 แห่งประกาศเข้าซื้อกิจการหลายบริษัทที่มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์จากกลุ่มบริษัทของเขา
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2560 “Anbang Group” ได้ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ระบุว่า นายอู๋ เสี่ยวฮุ่ย ประธานบริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากเหตุผลส่วนตัว และได้มอบอำนาจให้ผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องของกลุ่มปฏิบัติหน้าที่ในนามของเขา ซึ่งต่อมาเมื่อเดือน มี.ค.2561 นายอู๋ ถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงการระดมทุนและยักยอก โดยถูกจำคุกเป็นเวลา 18 ปี
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2558 นายสวี เซียง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทการลงทุน “Zexi Investment” ถูกประกาศว่าได้รับข้อมูลวงในเกี่ยวกับตลาดหุ้นด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย มีส่วนร่วมในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลวงใน และปั่นราคาซื้อขายหุ้น และถูกดำเนินคดีทางอาญาโดยหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งต่อมาเขาถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 6 เดือน ฐานปั่นราคาในตลาดหลักทรัพย์ และถูกปรับ 1.1 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.5 หมื่นล้านบาท)
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2558 นายสวี หมิง อดีตประธานกลุ่มบริษัท Dalian Shide Group และ Shide Club เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจตายกะทันหันขณะรับโทษในเรือนจำอู่ฮั่น โดยเขาได้รับโทษจากการมอบสินบนให้อดีตดาวรุ่งสมาชิกกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเลขาธิการพรรคสาขาเมืองฉงชิ่ง “โป๋ ซีไหล” ทั้งนี้ กระบวนการจับกุม การดำเนินคดี และการพิพากษาของเขาไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ