xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : คนจีนแห่ออมเงินสูงเป็นประวัติการณ์ สวนทางนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หญิงจีนนับเงินสดอยู่หน้าธนาคารด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม (ภาพจากสื่อจีน Baijiahao)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

เริ่มต้นปี 2023 มีตัวเลขใหม่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจจีนภาคประชาชนจีนที่น่าสนใจจนกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลมีเดียจีน คือเรื่องของอัตราการออมเงินของคนจีนในประเทศที่ดีดตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สวนทางกับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลจีนซึ่งถูกยกขึ้นมาเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของประเทศในปีนี้


ช่วงโรคระบาดโควิด-19 เป็น 3 ปีที่คนจีนมีสถิติการออมเงินพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จนสิ้นปี 2022 ที่อัตราการออมเงินของคนจีนอยู่ในระดับ “การออมเงินที่สูงเกิน” (超额储蓄อ่านว่า เชาเอ๋อฉูชู่) ปรากฏการณ์นี้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี คนจีนทำไมถึงต้องออมเงินกันมากขนาดนั้น? นักวิชาการจีนออกมาให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง?

ตั้งแต่ปี 2020-2022 เป็นเวลา 3 ปีที่จีนยืนหยัดนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ การออมเงินของคนจีนทั้งประเทศแต่ละปีเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 10 ล้านล้านหยวน โดยเฉพาะปี 2022 ปีเดียวปริมาณเงินออมที่เพิ่มขึ้นใหม่ของคนจีนทั้งประเทศพุ่งสูงถึง 17 ล้านล้านหยวน (ปี 2020-2022 ขนาดเงินออมรวมทั้งประเทศจาก 8 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นมาเป็น 115 ล้านล้านหยวน) เทียบกับช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19 จำนวนเงินออมของคนจีนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นใหม่ปีละ 5 ล้านล้านหยวน แสดงว่าแค่ในช่วงโควิด 3 ปี อัตราการออมของคนจีนเพิ่มขึ้นปีละหนึ่งเท่าตัว และแค่เดือน ม.ค. ของปี 2023 นี้เพียงเดือนเดียวตัวเลขการออมเงินของจีนทั้งประเทศสูงถึง 6.87 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.05 ล้านล้านหยวน!

ปรากฏการณ์การออมเงินสูงเกินเป็นประวัติการณ์ของประเทศจีน มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของบริษัทหลักทรัพย์จงซิ่น นายหมิงหมิง ออกมาให้ความเห็นว่า “การออมเงินเกินภาวะปกติของคนในประเทศเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1.เศรษฐกิจภายในประเทศไม่ค่อยสู้ดี ในช่วงของการระบาดโควิดทั่วประเทศ รายรับและการใช้จ่ายของประชาชนไม่ปกติ ทำให้เกิดการออมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง

2.ความเสี่ยงของภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายเป็นวงกว้าง ประชาชนชะลอการซื้อบ้านและลดความสนใจการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

3.ปี 2022 ที่ผ่านมา กองทุนประเภทต่างๆ ของสถาบันการเงินส่วนใหญ่ขาดทุน ทำให้ชาวจีนแห่ขายกองทุนแล้วโยกเงินไปไว้ในบัญชีเงินฝาก

สภาพแออัดของโรงพยาบาลรัฐ เป็นภาพที่เห็นเป็นปกติโดยเฉพาะโรงพยาบาลดังๆ ในเมืองใหญ่ สะท้อนถึงระบบสาธารณสุขจีนที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากร (ภาพจากสื่อจีน Baidu News)
นอกจากการโยกเงินออกจากการลงทุนกองทุนประเภทต่างๆ แล้ว ชาวจีนยังโยกเงินออกจากตลาดหุ้นด้วย ทำให้ยอดเงินฝากในธนาคารยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ผู้เขียนมองว่าผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของจีนเป็นเวลานานติดต่อกัน 3 ปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคประชาชนจีนอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่ได้รับการนำเสนอจากสื่อทางการจีนเท่าใดนัก แต่ในหมู่ประชาชนทั่วไปต่างรู้สึกและประสบปัญหาด้วยตัวเอง ปัญหาการตกงาน จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนทั่วไปต้องลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตลาดหลักทรัพย์ไม่เสถียรทำให้นักลงทุนจำนวนมากขาดทุนกันระนาว ผลประกอบการกองทุนต่างๆ ตกฮวบจนถึงขั้นขาดทุน บริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดเล็กต่างๆ ตั้งแต่เดือน มี.ค.ปี 2022 เป็นต้นมาเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจน ทำให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง เพราะปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนจีนจำนวนมากเก็บออมเงินสดและเอาไปไว้ในที่ปลอดภัยที่สุด ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันจะต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์จีนออกมาให้ความเห็นมากมายเกี่ยวกับวิธีการที่จะกระตุ้นให้ประชาชนเอาเงินออกมาใช้จ่ายหรือลงทุน เช่น มาตรการดอกเบี้ยเงินฝากศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก หรือให้ประชาชนเอาเงินเก็บ 30 เปอร์เซ็นต์ ออกมาซื้อบ้านหรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นและเดินหน้าต่อไปได้ กระตุ้นให้ประชาชนที่มีเงินเก็บเอาออกมาทำธุรกิจลงทุน เป็นต้น

ความเห็นจากกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์จีนที่ว่าเอาเงินเก็บ 30 เปอร์เซ็นต์ ไปซื้อบ้านกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างมากกันในโลกโซเชียลจีน มีคอมเมนต์จากชาวเน็ต เช่น “พูดง่ายทำยากนะ หากว่าเอาเงินเก็บ 30 เปอร์เซ็นต์ มาซื้อบ้านได้โดยไม่ต้องกู้เงินธนาคาร ไม่ต้องผ่อน แบบนั้นสิถึงควรแนะนำให้ประชาชนซื้อ แต่ความเป็นจริงบ้านพักอาศัยก็แพง เงินเก็บทั้งหมดที่มีเอามาซื้อบ้านก็ไม่พอ อย่างมากพอจ่ายได้แค่เงินดาวน์ บางทีเงินดาวน์ยังจะไม่พอด้วยซ้ำไป”

ในประเด็นของการออมเงินของภาคประชาชนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ยังมีความคิดเห็นจากชาวเน็ตจีนท่านหนึ่งที่น่าสนใจและมีคนเข้ามากดไลก์เห็นด้วยเป็นจำนวนมากคือ “หากว่าระบบสวัสดิการสังคม บริการสาธารณสุข และราคาที่อยู่อาศัยดีกว่าที่เป็นอยู่ ประชาชนคงไม่ต้องเก็บออมเงินกันมากขนาดนี้!” ความเห็นนี้สะท้อนถึงภาวะปัจจุบันของประชาชนจีนได้เป็นอย่างดี ที่ยังต้องปากกัดตีนถีบและยึดถือภาษิต “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” กันเป็นหลัก

คนจีนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-34 ปี มีการวางแผนเพื่อวัยชรากันมากขึ้น ปี 2022 มีรายงานของ Fuda International ที่เก็บตัวอย่างจากกลุ่มคนอายุ 18-34 ปี จำนวน 20,000 คนทั่วประเทศ รายงานถึงแผนการออมเงินเพื่อวัยชราของคนกลุ่มนี้ว่า ในปี 2020 คนกลุ่มนี้จะออมเงิน 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทุกเดือน และในปี 2021 คนกลุ่มนี้ออมเงินเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทุกเดือน คนกลุ่มนี้มีการออมเงินโดยเฉลี่ยต่อเดือนจำนวน 1,624 หยวน หรือประมาณ 8,120 บาท ถือว่าเป็นเงินออมจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และ 76 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มคนตัวอย่างมองว่าจำเป็นจะต้องมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินเอาไว้เพราะไม่รู้ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

พนักงานประจำธนาคารปักกิ่ง กำลังแนะนำการลงทุนให้ลูกค้า (ภาพจาก ธนาคารปักกิ่ง)
ผู้เขียนมองว่าคนจีนยุคใหม่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการวางแผนอนาคต อย่างเพื่อนของผู้เขียนที่อายุราว 30 ปีต้นๆ ส่วนใหญ่หากว่าที่บ้านไม่ได้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีมาก ก็ใช้เงินกันอย่างประหยัดไม่ฟุ่มเฟือยและออมเงินกันทุกๆ เดือน

สำหรับปี 2023 เป็นปีที่เศรษฐกิจจีนอาจจะสตาร์ทตัวแรง ธุรกิจบริการเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจค่อยๆ กลับมา ประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น รัฐบาลจีนยังได้ยกเรื่องของ “การฟื้นฟูและกระตุ้นการใช้จ่าย” ขึ้นมาเป็นงานสำคัญลำดับที่หนึ่งของปีนี้

มีการประเมินว่าในปีนี้เงินออมของประชาชนจีนจะถูกถอนออกมาเพื่อการใช้จ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจประมาณ 5-6 แสนล้านหยวน แต่ประชาชนจะถอนเงินออกมาใช้จ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความมั่นใจต่อความมั่นคงในชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จีนส่วนใหญ่มั่นใจว่า อัตราการออมที่เยอะเกินไปในปัจจุบันจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เงินจะไหลเข้าระบบเศรษฐกิจเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ การเติบโตของรายได้ของภาคประชาชนในระยะยาวและความมั่นคงของงานที่ทำอยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะเพิ่มหรือลดการออมเงิน

สรุป อัตราการออมเงินของชาวจีนที่สูงเป็นประวัติศาสตร์สวนทางกับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของประชาชนจีนต่อชีวิตและเศรษฐกิจที่อาจจะยังไม่ค่อยสู้ดี อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ อัตราการเป็นหนี้ของประชาชนจีนในปี 2022 สูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์ คือในจำนวนประชากร 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ มีคนที่กำลังเป็นหนี้จำนวน 780 ล้านคน โดยเป็นหนี้เฉลี่ยต่อคน 1.4 แสนหยวน หรือประมาณ 7 แสนบาท!

นอกจากนี้ อัตราการว่างงานที่สูง บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในจีนยังชะลอดูท่าทีและบรรยากาศในประเทศ ส่วนบริษัทเอกชนจีนหลายรายยังคงมีการปรับโครงสร้างและลดตำแหน่งงานกันอยู่ ดังนั้นผู้เขียนมองว่าการกระตุ้นให้ประชาชนควักเงินในกระเป๋าออกมาใช้จ่ายและลงทุนน่าจะเป็นงานท้าทายของรัฐบาลจีนในปีนี้อยู่เหมือนกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น