เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีเปิดเผยการค้นพบซากชุมชนโบราณอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ในหมู่บ้านกู่เฉิง นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งอาจมอบเบาะแสใหม่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของวัฒนธรรมเตียน ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
โดยโจวหรานเฉา นักวิจัยจากสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีอวิ๋นหนาน ระบุว่า ชุมชนรูปวงแหวนแห่งนี้มีสภาพสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยแท่น ร่องลึก และแนวป้องกันลาดเอียง
การค้นพบแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านกู่เฉิงนับเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ที่มีนัยสำคัญ จากแหล่งโบราณสถานที่พบกว่า 1,000 จุด เช่น หลุมศพ บ้าน คูดิน และหลุมขี้เถ้า ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงยุคที่ภูมิภาคตอนกลางของจีนอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซางและราชวงศ์โจว (1600-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ทั้งนี้ ชุมชนโบราณนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงวัฒนธรรมที่เก่าแก่กว่าวัฒนธรรมเตียน ซึ่งมอบความรู้ใหม่สำหรับการทำความเข้าใจรูปแบบการตั้งถิ่นฐาน การจัดระเบียบทางสังคม ประเพณีงานศพ และองค์ประกอบทางชาติพันธุ์ของวัฒนธรรมยุคแรกในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ข่าว/ภาพ โดยสำนักข่าวซินหัว, 16 ก.พ.2023