แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศจีนที่โวยสหรัฐฯ ว่า ทำเกินกว่าเหตุกรณียิงบอลลูนพลเรือนของจีนตก เป็นการแถลงที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับใครหลายคน แต่นักวิเคราะห์แดนมังกรมองว่า เรื่องนี้มีอะไรทะแม่งๆ อยู่ไม่น้อย
เหตุการณ์สหรัฐฯ พบบอลลูน ที่อ้างว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของจีนลอยเหนือน่านฟ้าเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้การพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ซึ่งตกต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษด้วยความหวาดระแวงกันนั้น เพิ่มความยากลำบากยากเย็น นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ถึงกับประกาศเลื่อนการเยือนแดนมังกร ซึ่งเดิมมีกำหนดเดินทางในวันศุกร์ (3 ก.พ.) ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้รับรายงานเรื่องบอลลูนจีนลอยเข้ามาในสหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (31 ม.ค.) จากนั้นทีมงานด้านความมั่นคงแห่งชาติคอยรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกลาโหมอ้างว่า บอลลูนต้องสงสัยลำนี้กำลังสำรวจจุดยุทธศาสตร์ในประเทศ แต่เพนตากอนยอมรับเช่นกันว่า บอลลูนมิได้แสดงภัยคุกคามทางทหาร หรือภัยทางกายภาพต่อผู้คนภาคพื้นดิน
กระทั่งสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งเครื่องบินขับไล่เอฟ-22 สอยบอลลูนไร้คนขับด้วยขีปนาวุธ เอไอเอ็ม-9 ไซด์ไวน์เดอร์ นอกชายฝั่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไบเดนกล่าวชื่นชมปฏิบัติการครั้งนี้ว่า ประสบความสำเร็จ
จากรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ นายจู เฟิง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และอาจารย์ด้านกิจการระหว่างประเทศ ประจำมหาวิทยาลัยนานจิง ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อเพนตากอนยอมรับว่า บอลลูนมิได้แสดงภัยคุกคาม การตัดสินใจยิงทิ้งจึงเป็นแค่การทำให้จีนถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามในสายตาของคนอเมริกันมากขึ้นเท่านั้น
โกลบอลไทมส์รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนของจีนมองเรื่องซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ของสหรัฐฯ ขณะนี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลและสื่อของสหรัฐฯ กำลังประโคมข่าวเบี่ยงเบนประเด็นจากอุบัติเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจ ให้กลายเป็นเหตุการณ์ละเมิดอธิปไตย
นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังกำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่างการใช้งานเพื่อภารกิจทางทหารและพลเรือน เกิดเบลอไม่ชัดเจน เนื่องจากกระทรวงต่างประเทศของจีนได้แจ้งต่อฝ่ายสหรัฐฯ ซ้ำๆ มาหลายครั้งแล้วว่า บอลลูนลำนี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางพลเรือน สำหรับงานด้านวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาเป็นหลักเท่านั้น แต่ถูกลมจากทิศตะวันตกพัดให้ออกนอกเส้นทาง หลงเข้ามาสหรัฐฯ โดยไม่ได้ตั้งใจด้วยเหตุสุดวิสัย
ผู้เชี่ยวชาญของจีนระบุว่า ดังนั้น หากต่อไปอากาศยานต่างชาติล่วงล้ำน่านฟ้าจีนด้วยเหตุสุดวิสัย จีนย่อมสามารถสอยร่วงเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ ทำ
นายลี่ว์ เซียง นักวิจัยของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีนให้ความเห็นว่า การยิงบอลลูนด้วยข้อกล่าวหาเป็นบอลลูนสอดแนมอาจเป็นวิธีเหมาะสมที่สุดที่สหรัฐฯ นำมาใช้ เพื่อหวังศึกษาเทคโนโลยีของจีน เพราะบอลลูนลำนี้บินได้สูงมากและติดตั้งอุปกรณ์ล้ำสมัย
ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านการบินทางทหารของจีน การสอยบอลลูนไร้คนขับด้วยขีปนาวุธเอไอเอ็ม-9 ไซด์ไวน์เดอร์ นอกชายฝั่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ไม่ต่างอะไรกับ “การใช้ปืนใหญ่ยิงยุง” ซึ่งยังมีเครื่องบินเอฟ-15 รถถัง และเรือรบคอยให้การสนับสนุน ตามที่เพนตากอนแถลงในเว็บไซต์อีกด้วย โดยขีปนาวุธถูกยิงจากเครื่องบินขับไล่เอฟ-22 ที่ระดับ 58,000 ฟิต (17,678 เมตร ) ขณะบอลลูนอยู่ที่ระดับ 60,000 and 65,000 ฟิต
ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งระบุว่า นอกจากเป็นปฏิบัติการที่เวอร์วังอลังการแล้ว ยังสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อคิดถึงวิธีการสกัดของสหรัฐฯ กับบอลลูนไร้คนขับที่ถูกลมพัดออกนอกเส้นทาง โดยใช้เครื่องบินเอฟ-22 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ล่องหนล้ำสมัยและยิงด้วยขีปนาวุธ หากต่อไปมีบอลลูนอื่นๆ ล่วงล้ำเข้ามา กองทัพอากาศสหรัฐฯ อาจหมดแรง หรืออาจถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวถ้าใช้วิธีสกัดแบบนี้
บรรดาผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรเห็นว่า นี่เป็นปฏิบัติการเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่า ถ้าพิจารณาว่า บอลลูนเพิ่งถูกยิงตก หลังจากบินข้ามสหรัฐฯ มาแล้ว และกำลังจะบินออกไป
นายลี่ว์ แห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีนยังชี้ว่า ย่อมเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า เครื่องบินสหรัฐฯ ทั้งภารกิจทางทหาร หรือพลเรือนได้บินมาป้วนเปี้ยนใกล้ปากประตูบ้านจีนบ่อยกว่าที่จีนทำกับสหรัฐฯ เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินลาดตระเวน หรือสอดแนมในทะเลจีนใต้ ช่องแคบไต้หวัน และทะเลจีนตะวันออก
"ถ้าสหรัฐฯ ไม่แยกแยะระหว่างอากาศยานพลเรือนกับทหาร ก็เป็นการสร้างแบบอย่างที่เลวร้ายมากสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ" นายลี่ว์ ระบุ
ด้านกระทรวงต่างประเทศจีนยังแถลงด้วยว่า จีนขอสงวนสิทธิที่จะ “ตอบโต้เพิ่มเติมตามที่จำเป็น”
อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนมีทางเลือกจำกัดในการตอบโต้สหรัฐฯ โดยนาย อีแวน เอส. เมเดรอส อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยจอห์นทาวน์ และเคยเป็นหัวหน้าที่ปรึกษาด้านกิจการเอเชีย-แปซิฟิกของนายบารัค โอบามา สมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชี้ว่า การหาหนทางตอบโต้จะเป็นเรื่องยุ่งยากมากสำหรับประธานาธิบดี สี เพราะจีนถูกจับได้คาหนังคาเขาว่า ส่งบอลลูนเข้ามาสอดแนม และเรื่องเกิดขึ้นในขณะที่จีนกำลังหาทางปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติรายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ อยู่พอดี ซึ่งจีนหมดหนทางแก้ตัว
นอกจากนั้น ผู้นำจีนยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน ที่เริ่มจะฟื้นตัวหลังจากการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ท่ามกลางปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีชิปขั้นสูง ที่สหรัฐฯ เพิ่งจับมือกับญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ได้สำเร็จ ในการร่วมมือกันกดดันอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ของจีนไม่ให้เติบโต