xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอ ASML อ้างกฎฟิสิกส์ ยิ่งคุมส่งออก จีนยิ่งผลิตชิปขั้นสูงได้เอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตราสัญลักษณ์บนอาคารสำนักงานใหญ่ของอาร์เอสเอ็มแอล บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่สุดของยุโรปในเมืองเวลด์โฮเวน เนเธอร์แลนด์ - แฟ้มภาพรอยเตอร์
บุคคลระดับซีอีโอบริษัทชิปยักษ์ใหญ่สัญชาติดัตช์ เตือนสติแผนเผด็จศึกอุตสาหกรรมชิปแดนมังกรของสหรัฐฯ อีกหนว่า มาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงไปจีนของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดนนั้น สุดท้ายแล้วอาจกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองได้สำเร็จในที่สุด ซึ่งไปเป็นตามกฎของฟิสิกส์
 
ตามที่แหล่งข่าววงในได้มีการเปิดเผยกับบลูมเบิร์กนิวส์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ใกล้บรรลุข้อตกลงในการเข้าร่วมดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างเร็วสุดภายในสิ้นเดือน ม.ค.ไปแล้วนั้น

ด้านนาย ปีเตอร์ เวนนิงก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของ อาร์เอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง เอ็นวี (ASML Holding NV) ได้ให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กนิวส์ที่อาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมืองเวลด์โฮเวน เนเธอร์แลนด์ เมื่อว้นพุธ (25 ม.ค.) โดยมองว่า ในเมื่อบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของจีนจำเป็นต้องแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลก จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องการซื้อเครื่องมือการผลิตที่ไม่ใช่ของจีน แต่ถ้าไม่ได้รับเครื่องมือเหล่านั้น พวกเขาจะพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเอง แม้ต้องใช้เวลา แต่จะทำสำเร็จในที่สุด

“กฎของฟิสิกส์ในประเทศจีนก็เป็นอย่างเดียวกันกับที่นี่น่ะแหละ” นายเวนนิงก์ ชี้


“ยิ่งคุณเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นเท่าใด ก็ย่อมมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า พวกเขาจะเพิ่มความเพียรพยายามขึ้นอีก 2 เท่า” ในการสร้างเครื่องลิโทกราฟี ซึ่งอาจแข่งขันกับเครื่องลิโทกราฟีของอาร์เอสเอ็มแอลได้ด้วยซ้ำ นายเวนนิงก์ให้ความเห็น

 
ทั้งนี้ เทคโนโลยีลิโทกราฟี เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในการสร้างชิปขั้นสูง และอาร์เอสเอ็มแอลเป็นผู้คุมตลาดด้านนี้ โดยถึงแม้ว่า หลังจากสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้มาตรการตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว การส่งออกของอาร์เอสเอ็มแอลไปจีนยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ผลการทำข้อตกลงในเร็วๆ นี้ อาจทำให้อาร์เอสเอ็มแอลถูกจำกัดการขายเครื่องมือให้บริษัทในจีนมากขึ้น
 
มาตรการของสหรัฐฯ เป็นการพยายามหาทางบ่อนทำลายการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ของจีน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ แสดงเจตจำนงชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้อุตสาหกรรมชิปของจีนสามารถพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถสร้างชิปขั้นสูงได้สำเร็จ ด้วยข้ออ้างว่า จีนจะนำไปใช้ในด้านการทหาร ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ

 
ฝ่ายจีนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกเมื่อเดือน ธ.ค.2565 ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในโลก และข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของชาตินั้นฟังไม่ขึ้น

 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นจะไม่ทำตามมาตรการของสหรัฐฯ ทั้งหมด โดยนอกจากสหรัฐฯ จำกัดการส่งออกเครื่องมือสำหรับการผลิตชิปแล้ว ยังห้ามพลเมืองของตนทำงานร่วมกับบริษัทผลิตชิปของจีนอีกด้วย เพื่อไม่ให้จีนมีโอกาสเรียนรู้ทักษะความชำนาญ
 
นายเวนนิงก์ มองว่า การจำกัดเข้มงวดถึงระดับบุคคลไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเลย และทุกคนจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการส่งออกนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการหยุดชะงักขึ้นในระดับต่างๆ ประสิทธิภาพและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า



กำลังโหลดความคิดเห็น